ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงผลการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 ซึ่งได้ข้อสรุปใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 2.ร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย และ 3.ร่างหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางยา ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อไปว่า เกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย ทั้งนี้ ในส่วนของร่างจริยธรรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือขยายเพิ่มเติมได้ ซึ่งพบว่า ใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ไม่มีหัวข้อเรื่องของจริยธรรม โดยภาคประชาชนได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชนที่มีการเข้าชื่อให้ครม.เพื่อปรับแก้ พ.ร.บ.เดิมซึ่งล้าสมัยแล้วด้วย
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า การกำหนดจริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา จำเป็นต้องมีการออกเป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ โดยพบว่าในต่างประเทศ เริ่มเข้มงวดในการออกกฎเกณฑ์เพื่อไม่ให้ตัวแทนบริษัทยามีผลต่อการใช้ยาของแพทย์ เพราะพบว่าการส่งเสริมการขายด้วยวิธีดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบ คือ 1.เกิดการใช้ยาราคาแพง 2.เกิดโอกาสการใช้ยาเกินจำเป็น 3.กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่ายาส่วนใหญ่ที่มีราคาแพงจะเป็นยานอกบัญชียาหลัก ซึ่งรัฐจะต้องรับผิดชอบงบประมาณ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2553 คนไทยบริโภคยาสูงกว่า 140,000 ล้านบาท และพบการร้องเรียนจากผู้ป่วยว่าการที่ตัวแทนบริษัทยาเข้าถึงแพทย์ได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาในการรอพบแพทย์นานขึ้นด้วย
"ต่างประเทศจะมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องตัวแทนบริษัทยาเข้าทำการตลาดส่งเสริมการขายกับแพทย์ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งนี้เกณฑ์จริยธรรมจะมี 7 หมวด เช่น ไม่ให้ผู้สั่งใช้ยารับผลประโยชน์ได้จากผู้แทนบริษัทยา ให้สั่งยาด้วยชื่อสามัญ การจัดระบบยาที่มีความโปร่งใส เป็นต้น" ผศ.ภญ.นิยดากล่าว
ที่มา : นสพ.ข่าวสด วันที่ 17 ส.ค.55
- 2 views