ทางแพร่งในระบบสุขภาพแบ่งออกเป็นสอง หนึ่ง คือมิติทางเศรษฐกิจ เม็ดเงินร่วม8 แสนล้านบาท ที่จะไหลเข้าสู่ประเทศในระยะเวลา 4 ปี จากนี้ (ปี 2559) อีกหนึ่ง คือมิติมนุษยธรรม ความเพียงพอของทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่ใช้ในประเทศ ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัล ฮับคือนโยบายที่บังคับให้ต้องเลือก เลือกบนพื้นฐานการลงทุนด้านสุขภาพต้องไม่ทำให้ประชาชนในประเทศเสียโอกาส

"ถ้าจะทำเมดิคัล ฮับ ก็ควรมั่นใจก่อนว่าสามารถให้บริการสุขภาพพื้นฐาน Essential Health Service ที่มีคุณภาพแก่ประชาชนได้แล้ว" นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน์ ชมรมแพทย์ชนบท แสดงความเห็น
ในความหมายของ นพ.พรเทพ การบริการพื้นฐานในประเทศควรมาก่อนเมดิคัล ฮับ

"ไม่มั่นใจว่านโยบายนี้ทำไปเพื่อใครหรือเราจะยอมรับให้แพทย์ 1 คน ดูแลประชาชนในชนบท 1-2 หมื่นคนรักษาผ่านอินเทอร์เน็ตระหว่างสถานีอนามัยกับโรงพยาบาลชุมชน แล้วจัดแพทย์เฉพาะทางครบทีมมีเทคโนโลยีก้าวหน้าไว้ดูแลชาวต่างชาติด้วยคุณภาพระดับโลกตามนโยบายเมดิคัล ฮับ" แพทย์ชนบทตั้งคำถาม
คุณหมอพรเทพ สะท้อนมุมมองต่อไปว่า แพทย์เป็นอาชีพที่สามารถทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรถึงขั้นการค้ากำไรหรือนำธุรกิจเข้าค้าขายในตลาดหลักทรัพย์ ควรเป็นเพียงหน่วยงานที่ทำธุรกิจพอเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมทุนนิยมเต็มรูปแบบแล้ว ดังนั้นถ้าขาดการดูแล ระบบตลาดที่ดี แพทย์ก็จะถูกดูดกลืนไปตามกลไกตลาด ไปสู่สาขาที่น่าสนใจตามคุณค่าทางตลาด

"เมื่อสังคมไทยยังยกมือไหว้คนโกงที่รวย หรือคนที่เป็นอดีตนายกแพทยสภากลับปกป้องบริษัทยา และคัดค้านการทำสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ก็ไม่แปลกที่แพทย์ยินดีทำงานในสาขาที่งานเบาเงินหนักมากกว่า" คุณหมอพรเทพ ฉายภาพ

เป็นภาพที่เสริมแรงให้ปัญหาสาหัสยิ่งและจะถูกสุมขึ้นท่ามกลางการผลักดันเมดิคัล ฮับ อย่างแน่นอน หมอชนบทรายนี้ บอกอีกว่า เมื่อนักการเมืองและนายทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศร่วมมือกันเพื่อค้ากำไรจากบริการทางการแพทย์ ย่อมเกิดปัญหาการบริการ สองมาตรฐานที่มากขึ้น

คนยากจนจะเป็นเพียงผู้ป่วยให้แพทย์จบใหม่หาประสบการณ์จนเกิดความเชี่ยวชาญ เพื่อไปรักษาผู้ป่วยที่ร่ำรวยกว่าหรือมีกำลังซื้อมากกว่า คำถามคือ รัฐบาลในฐานะผู้ดูแลปัญหานี้มีความจริงใจกับประชาชนจริงหรือไม่ หรือการหาเสียงนั้นเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น

"บางพรรคมีสโลแกนว่าประชาชนต้องมาก่อน หรือหัวใจคือประชาชน แต่พฤติกรรมที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมกลับสัมผัสได้ว่านายทุนของพรรคต้องมาก่อน ถามว่าหัวใจคือประชาชน หรือนายทุนของพรรคกันแน่" นพ.พรเทพ ตั้งคำถามทิ้งท้าย

แน่นอนว่าขณะนี้ทางแพร่งในระบบสุขภาพแบ่งออกเป็นสอง
หนึ่ง คือมิติทางเศรษฐกิจ อีกหนึ่งคือมิติทางมนุษยธรรม และนโยบายเมดิคัลฮับ บังคับให้ต้องเลือก... ขณะนี้รัฐบาลได้เลือกแล้ว

ประชาชนจะเสียโอกาสหรือไม่ สังคมต้องการคำตอบ

ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์ 14 ส.ค.2555