นับจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไปรัฐบาลจะมีการแถลงผลงานรายกระทรวงอย่างต่อเนื่องจนครบทุกกระทรวงเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ต่อรัฐสภาในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงแรกที่แถลงผลงานไปแล้วเมื่อวันที่26 สิงหาคมตามด้วยกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ตามลำดับ
นโยบายด้านแรงงาน เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เงาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาว่าทำได้ทันทีทั่วประเทศ แต่ที่ได้จริงมีเฉพาะ 7 จังหวัดในอีก 70จังหวัดปรับ 40% ซึ่งเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดส่งผลกระทบให้เอสเอ็มอีหลายแสนรายปิดตัวลดพนักงานทำให้แรงงานไม่ได้ 300บาทแต่ต้องตกงานหรือถูกลดสวัสดิการรายได้อื่นลงในขณะที่จำนวนลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบอีกกว่า 20 ล้านคน ไม่ได้ประโยชน์จากค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้เดือดร้อนทั้งแผ่นดิน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาวะค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
จากข้อกล่าวหาดังกล่าว เมื่อวันที่27 สิงหาคมที่ผ่านมา นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เปิดแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลช่วง1 ปี ว่า ใน
ส่วนของการดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า300 บาทนั้นจากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 โดยมีผลใน7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการสมุทรสาคร และภูเก็ต ขณะที่อีก70 จังหวัดที่เหลือจะเริ่มตั้งแต่วันที่1 มกราคม2556
อย่างไรก็ดี จากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบกับสถานประกอบการและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจึงได้มีการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกลดอัตราเงินสมทบให้2% และช่วง6 เดือนหลังลดอัตราเงินสมทบให้ 1% ส่งผลให้มีสถานประกอบการและผู้ประกันตนตามมาตรา 33และมาตรา 39 ได้รับประ โยชน์จากการลดอัตราเงินสมทบจำนวน 407,008 แห่ง และผู้ประกันตนจำนวน 10.212 ล้านราย
พร้อมกันนี้ได้มีโครงการศึกษาวิเคราะห์รายได้รายจ่ายและผลกระทบจากการปรับเพื่อศึกษาผลกระทบในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในวงเงิน 5.95 ล้านบาทเพื่อทำการศึกษาผลกระทบในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555 ของนายจ้างลูกจ้าง และรับทราบความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือหรือบรรเทาแก่ผู้ได้รับผลกระทบตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษา
ขณะที่ในส่วนของการพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิจากระบบประกันสังคมได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนให้กว้างขวางและครอบคลุมถึงการป้องกันและดำรงคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้มีการปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่20 กรกฎาคม 2555 ปรับเพิ่มอัตราค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 300,000 บาท เป็นไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเพื่อให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมสามารถกู้เงินจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการและบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยมีสถานประกอบการได้รับการอนุมัติสินเชื่อจำนวน 359 ราย วงเงิน 455.82 ล้านบาท สามารถรักษาสภาพการจ้างงานช่วยให้ลูกจ้างมีงานทำได้23,293คนเป็นต้น
นายเผดิมชัย กล่าวยอมรับว่า การทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์น้ำท่วม และวิกฤติยูโรแต่ก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ทั้งนี้หากให้ประเมินผลงานตนเองมองว่า ยังไม่ดีเท่าที่ควรเพราะสามารถที่จะทำให้ดีได้มากกว่านี้ ตนเองขอให้คะแนน 5.5 จากเต็ม10คะแนน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงแรงงานจะได้ดำเนินนโยบายต่างๆต่อไป อาทิ การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ที่จะต้องได้เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ไม่มีการหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้
นอกจากนี้จะต้องมีการเพิ่มมาตรการคุ้มครองแรงงานในต่างประเทศโดยทูตแรงงานนั้นๆ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ที่0.7%ทำให้ต้องมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนนับล้านคน โดยจะต้องดำเนินการให้แรงงานเข้ามาอย่างถูกกฎหมายต่อไป
ที่มา : นสพ.ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 30 ส.ค. 55
- 14 views