สปส.เปิดแนวทางศึกษา 6 ทางเลือก ป้องกันปัญหากองทุนชราภาพติดลบ พร้อมให้ผู้ประกันตนร่วมประชาพิจารณ์ ชี้ผลประมาณการรายรับจะเท่ากับรายจ่าย และจะเริ่มติดลบในปี 2587
นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษก สปส.เปิดเผยว่า ในปี 2555 สปส.ประมาณการว่าจะมีผู้รับบำเหน็จกองทุนชราภาพจำนวน 94,110 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 5,680 ล้านบาท และในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มจ่ายบำนาญชราภาพ ประมาณการว่าจะมีผู้รับเงินบำนาญจำนวน 3,250 คน เป็นเงิน 80 ล้านบาท ผู้รับบำเหน็จชราภาพจำนวน 122,860 คน เป็นเงิน 8,190 ล้านบาท รวมมีผู้รับผลประโยชน์ทดแทนทั้งหมด 126,110 คน เป็นเงิน 8,270 ล้านบาท
ส่วนปี 2567 ประมาณการว่าจะมีผู้รับบำนาญชราภาพจำนวน 817,680 คน เป็นเงิน 41,960 ล้านบาท ผู้รับบำเหน็จชราภาพ 121,860 คน เป็นเงิน 11,060 ล้านบาท รวมมีผู้รับผลประโยชน์ทดแทนทั้งหมด 939,540 คน เป็นเงิน 53,020 ล้านบาท และในปี 2577 จะเป็นปีที่ สปส.มีเงินสะสมกองทุนชราภาพสูงสุดประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท ประมาณการว่าจะมีผู้รับบำนาญชราภาพจำนวน 3.3 ล้านคน เป็นเงิน 422,230 ล้านบาท ผู้รับบำเหน็จชราภาพจำนวน 69,950 คน เป็นเงิน 22,370 ล้านบาท รวมมีผู้รับผลประโยชน์ทดแทนทั้งหมดจำนวน 3.37 ล้านคน เป็นเงินที่ สปส.ต้องจ่ายออก จำนวน 444,610 ล้านบาท หลังจากนั้นเพียง 1 ปี รายรับเงินกองทุนจะเท่ากับรายจ่ายและจะเริ่มติดลบในปี 2587 เป็นต้นไป
"หลังจากปี 2587 ซึ่งมีการคาดว่ากองทุนชราภาพจะเริ่มติดลบนั้น ผู้บริหารจะต้องไปดูว่ามีเงินลงทุนมากกว่า 5 เท่าหรือไม่ หากมีค่าน้อยกว่า 5 เท่า เราจะต้องเริ่มมีการปรับปรุงการบริหารเพื่อให้กองทุนมีเสถียรภาพ เช่น อาจจะเพิ่มบำนาญ ลดเงินสมทบหรือลดประโยชน์ทดแทน ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนที่จะเกษียณอายุไม่ต้องห่วง มั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินชัวร์" โฆษก สปส.กล่าว
โฆษก สปส.กล่าวต่อว่า ในปี 2556 จะมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบทั้งกับผู้ที่เป็นสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่ สำหรับแนวทางที่ทาง สปส.ได้เตรียมศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้กองทุนชราภาพติดลบนั้นมี 6 ทางเลือก ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1. การเพิ่มเงินสมทบกรณีชราภาพ โดยอาจเพิ่มในส่วนของผู้ประกันตนร้อยละ 1 และในส่วนของนายจ้างร้อยละ 0.5 ทุกๆ 3 ปี จนกระทั่งเงินสมทบในส่วนผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 13 และในส่วนของนายจ้างอยู่ที่ร้อยละ 8 ซึ่งสามารถทำให้กองทุนอยู่ได้ 47 ปี นับจากปี 2557 ทางเลือกที่ 2. เพิ่มอายุสิทธิผู้รับบำนาญ 2 ปี ทุกๆ 4 ปี จนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี โดยคงเงินสมทบที่ร้อยละ 3 ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้กองทุนอยู่ได้ 38 ปี
ทางเลือกที่ 3 เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญ จาก 15 ปี เป็น 20 ปี อายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ทั้งนี้ การปรับเพิ่มระยะเวลาดังกล่าวอาจค่อยเป็นค่อยไป ทางเลือกที่ 4 การปรับฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณเงินบำนาญ โดยปรับจากฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเป็นค่าจ้างเฉลี่ยตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบ ทางเลือกที่ 5 เป็นทางเลือกผสม คือ ทางเลือกที่ 1+3 ซึ่งสามารถทำให้กองทุนอยู่ได้ 59 ปี และทางเลือกสุดท้าย คือ ทางเลือกผสม 1+2+3+4 ซึ่งทำให้กองทุนอยู่ได้ 38 ปี
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 27 ส.ค. 55
- 1 view