ในที่สุดรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตัดสินใจเดินหน้าเต็มตัวกับนโยบายสร้างความเสมอภาคและบูรณาการสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุข 3 กองทุน ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แทนการเดินหน้าหาเสียงกับนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่จะเริ่มในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

เหตุเพราะการร่วมจ่าย 30 บาท คงไม่สามารถดึงความสนใจหรือคะแนนนิยมได้มากนัก ต่างกับนโยบายสร้างความเสมอภาคในสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ย่อมได้ผลดีกว่า แม้ในทางปฏิบัติอาจไม่ราบรื่นนัก แต่ในเชิงนโยบายถือว่าดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนไร้เงื่อนไข ซึ่งเริ่มแล้ว 1 เมษายนที่ผ่านมา แม้ล่าสุดจะมีปัญหาโรงพยาบาลเอกชนไม่รับการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือดีอาร์จี ที่ 3 กองทุนใช้อยู่ จนมีข่าวว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะนัดหารือถึงการแก้ปัญหาในเร็วๆ นี้

ส่วนนโยบายสร้างความเท่าเทียมด้านบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเดิมจะเดินหน้าเดือนกรกฎาคม แต่ในทางปฏิบัติติดปัญหาจนต้องขยายไปเดือนตุลาคม อย่างกรณีไตวาย ติดเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่แต่ละกองทุนแตกต่างกัน ขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ติดเรื่องการกำหนดค่าซีดี 4 หรือปริมาณไวรัสเอชไอวีที่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส แต่ปัจจุบันยังแตกต่างกัน

ที่น่าจับตา! รัฐบาลเตรียมขยายสิทธิให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาค่ายา ใน 3 กองทุนที่ต่างกัน ซึ่งยืนยันได้จากข้อมูลวิชาการของ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่ศึกษาเปรียบเทียบการรักษาโรคมะเร็งใน 3 กองทุน และพบว่า ยาริทูซิแมบ (Rituximab) รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจัดเป็นยาดีและจำเป็น แต่มีราคาแพงเข็มละ 69,157 บาท ต้องใช้ประมาณปีละ 829,884 บาท ซึ่งบัตรทองไม่ได้ ประกันสังคมขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์ เพราะยานี้ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่สิทธิข้าราชการกลับได้ใช้ยาดังกล่าว

ส่วนยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) รักษามะเร็งเต้านม ราคาเข็มละ 98,340 บาท ค่ารักษาประมาณปีละ 1,180,080 บาท เช่นเดียวกัน บัตรทองไม่ได้ประกันสังคมแล้วแต่ดุลพินิจแพทย์ ส่วนข้าราชการได้เหมือนเดิม ยาบีวาซีซูแมบ (Bevacizumab) รักษามะเร็งลำไส้ เข็มละ 21,602.50 บาท ประมาณปีละ 1,036,920 บาท สิทธิข้าราชการได้รับการรักษา แต่บัตรทองไม่ได้ ประกันสังคมขึ้นอยู่กับดุลพินิจแพทย์

ขณะที่ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรธรกำชัย เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมา ได้เห็นถึงความแตกต่างของการรักษาพยาบาลในแต่ละกองทุนมาตลอด โดยเฉพาะค่ายา อย่างการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดบี เซลล์ (B-cell lymphoma) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากถึงร้อยละ 80 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยพบว่า การรักษาโดยใช้ยาริทูซิแมบ จัดเป็นยามาตรฐานสำหรับรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ใช้กันทั่วโลก ร่วมกับการให้เคมีบำบัด เพราะช่วยชีวิตผู้ป่วยให้หายขาดได้ร้อยละ 65-70 แต่หากใช้เคมีบำบัดอย่างเดียวจะหายได้ร้อยละ 50 แต่ยาดังกล่าวราคาแพง เข็มละ 60,000-80,000 บาท คนไข้ต้องรักษาถึง 6 ครั้ง ทำให้ยาชนิดนี้ไม่มีในบัญชียาหลัก หากเป็นผู้ป่วยบัตรทองต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ขณะที่ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการสามารถเบิกค่ายาได้ตามปกติ แต่หากเป็นประกันสังคมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

ที่ผ่านมา สมาคม ได้พยายามผลักดันให้ผู้กำหนดนโยบายบรรจุยาดังกล่าวลงไปในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะเห็นว่ายานี้ช่วยชีวิตผู้ป่วยให้หายขาดได้ แม้จะมีราคาแพง แต่สัดส่วนผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในไทยยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น และเมื่อใช้ยานี้สามารถรักษาจนหายขาดแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้รับยาอีก ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ

"อยากเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ โดยรัฐควรจัดซื้อยามะเร็งในลักษณะรวม 3 กองทุน เพราะจะทำให้อำนาจต่อรองง่ายขึ้น แม้ในช่วงแรกอาจไม่ง่ายนัก" ศ.นพ.ธานินทร์กล่าว

ส่วน นางระเบียบ ฤทธิ์คำหาร อายุ 44 ปี ชาว อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ใช้สิทธิบัตรทอง เล่าอาการป่วยที่เป็นยาวนานร่วม 3 ปี ว่า ใช้ยาทั่วไปอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยาริทูซิแมบ แต่ยามีราคาแพงมาก ตกค่าใช้จ่ายคอร์สละ 5 แสนบาท คนยากจนและสิทธิบัตรทองไม่สามารถเบิกได้ เมื่อไม่ได้รับยาดังกล่าว จึงรู้สึกเสียใจมาก

นายเซ่งไฮ้ อายุ 72 ปี ชาวกรุงเทพฯ ผู้ป่วยมะเร็งหลอดลม มีอาการร่วม 2 ปี เห็นว่า หากรัฐบาลมียารักษาที่ดีและเท่าเทียมกันทุกกองทุน ถือเป็นเรื่องดี เพราะคนยากจนก็อยากมีชีวิตรอดเหมือนคนรวยเช่นกัน

หวังเพียงว่า เสียงเล็กๆ นี้รัฐบาลจะได้ยิน และทำจริง!

--มติชน ฉบับวันที่ 3 ก.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--