แฉกว่า600เว็บฯ ลอบขาย"บุหรี่" ล่อวัยรุ่นซื้อสารพัด เตรียมยื่นข้อเสนอ 'คลัง-สาธารณสุข' ออกกฎหมายห้ามขายทางเว็บ และห้ามรับส่งบุหรี่ผ่านปณ.หรือจ่ายเงินซื้อขายทางบัตรเครดิต พร้อมประสานICT ใช้โปรแกรมตรวจจับเว็บลักลอบขายหวั่นทำลายสุขภาพปชช.
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบโลกขององค์การอนามัยโลก 2550- 2551 กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทยในปี 55 มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี จ กเดิมที่เคยมีจำนวนนักสูบลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยสาเหตุที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวในการดำเนินมาตรการควบคุมยาสูบของไทย โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย มีการขายบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย เป็นช่องทางให้เด็กและเยาวชนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
โดยมาตรการควบคุมที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้แต่ยังไม่ได้ทำคือ ระบบการตรวจสอบเพื่อริบ และทำลายบุหรี่ที่ซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องทำข้อตกลงกับบริษัทบัตรเครดิต ไม่ให้รับจ่ายเงินซื้อขายบุหรี่ทางบัตรเครดิต และไม่ให้ไปรษณีย์รับส่งบุหรี่ รวมถึงออกกฎหมายควบคุมการขายบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติม ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำไปสู่การออกประกาศกระทรวงเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมามีประเด็นที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันที คือ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ แต่ยังไม่พบว่า มีการเอาผิดทางกฎหมายแม้แต่คดีเดียว ทั้งนี้ การขายบุหรี่ผ่านเว็บไซต์ ถือเป็นความผิดกตามฎหมายทั้งสิ้น เพราะบุหรี่เหล่านี้ไม่มีภาพคำเตือนบนซอง มีราคาต่ำ และไม่เสียภาษี ส่งผลเสียต่อไทยทั้งด้านสาธารณสุขและการคลังของประเทศ ตัวอย่างที่ สหรัฐอเมริกา พบว่า 93.6% ของเยาวชนสหรัฐฯ สามารถซื้อบุหรี่ได้จากอินเตอร์เน็ต ทำให้สหรัฐฯ ต้องเสียภาษีที่พึงได้ ปีละ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ดร.พิจิตรพงศ์ สุนทรพิพิธ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิจัยและจัดการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำวิจัยเรื่องธุรกิจการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบทางอินเทอร์เน็ต โดยผลวิจัยว่า เว็บไซต์ขายบุหรี่เริ่มเกิดขึ้นมานานกว่า 5 ปีแล้ว และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2555 พบเว็บไซต์ขายบุหรี่ จำนวน 630 เว็บไซต์ ส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์ที่อยู่ในประเทศไทย โดยสินค้าจะเป็นบุหรี่จากต่างประเทศ แต่งรส แต่งกลิ่นและ อุปกรณ์ในการสูบบารากู่ โดยแบ่งเว็บไซต์เป็น 3 ประเภท คือ 1.เว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ 2.เว็บไซต์ขายตรง และ3.เว็บไซต์ประเภทโซเชียล เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ เป็นต้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน มีตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-มหาวิทยาลัย มีการทำโปรโมชั่นลดราคา แถมสินค้า ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และที่น่าเป็นห่วงคือผู้ขายในเว็บไซต์โซเชียลบางคนอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนำสินค้าเข้ามาได้ในราคาถูกอีกด้วย
สำหรับการตรวจสอบเว็บไซต์เหล่านี้ ทำได้ด้วยการสร้างโปรแกรมตรวจสอบ และประสานไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ ICT อยู่ระหว่างการพิจารณานำไปใช้ในการตรวจจับบล็อกไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์นั้นๆ เพื่อนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่ง ปัจจุบันสามารถปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 200 เว็บไซต์ จากที่พบ 600 กว่าเว็บไซต์ หรือกว่า 27% ซึ่งจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์และเตือนประชาชนให้ทราบว่าการขายบุหรี่ลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
- 61 views