ชมรมแพทย์ชนบทเดินหน้าแกะรอย “งบค่าเสื่อม”...กระทรวงสาธารณสุขชนิดไม่กะพริบตา เพราะเกี่ยวพันกับความไม่โปร่งใสที่อาจจะส่อเจตนาเอื้อให้เกิดการทุจริตได้

งบค่าเสื่อมที่ว่านี้ เป็นงบค่าเสื่อมระดับประเทศของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 10 ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2555

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า ตามที่รู้กันดีว่าวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเยียวยาหน่วยงานและประชาชนที่ถูกน้ำท่วม...

แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงสาธารณสุขภายใต้การบริหารงบประมาณงบลงทุน...ค่าเสื่อมระดับประเทศของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กลับใช้งบประมาณนี้อย่างไม่เป็นไปโดยประหยัดและมีประสิทธิภาพ

ความน่าฉงนสงสัยนี้...อาจนำไปสู่กระบวนการที่เอื้อให้เกิดการทุจริต ซ้ำรอยกรณีโครงการไทยเข้มแข็งฉาวภาคแรกก็เป็นได้

กล่าวคือ...ได้มีการตั้งงบประมาณเครื่องมือแพทย์ไม่ซ้ำกับรายการงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ตั้งเรื่องจัดงบดำเนินการเรียบร้อย พร้อมส่งของ เพราะจัดซื้อจัดจ้างเสร็จสิ้นกันไปแล้วตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว

เพียงแต่ว่าจนบัดนี้งบประมาณยังไม่เคาะ...ยังไม่ผ่าน ครม.จนเกิดเสียงร่ำลือไปต่างๆนานาถึงกระบวนการที่พยายามต่อรอง เรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทฯ เพื่อให้งบก้อนนี้ผ่านฉลุย

แต่ถ้าดูเนื้อในรายละเอียดราคาจัดซื้อจัดจ้าง อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือแต่ละชิ้น ภายใต้งบไทยเข้มแข็งถือว่าตั้งงบประมาณค่าครุภัณฑ์ไว้ค่อนข้างต่ำ

นี่เองที่เป็นเหตุผลว่า หากมีใครไปต่อรองเรียกรับผลประโยชน์กับบริษัทฯจัดซื้อจัดจ้างในโครงการงบไทยเข้มแข็ง โดยมีข้อแม้ว่าถ้าไม่ให้งบก้อนโต ก็จะยกเลิก ล้มโครงการนี้เสีย...คงไม่มีใครมีกำลังจ่ายได้ เพราะส่วนต่างกำไรไม่ได้มีมากมาย

ปมปัญหาโครงการงบไทยเข้มแข็งปี 2555 อยู่ที่ความล่าช้า ยืดเยื้อ แต่ปมปัญหางบค่าเสื่อมอยู่ที่ราคาที่ตั้งไว้ค่อนข้างค้านสายตา เพราะสูงเกินจริง จนดูเหมือนว่าจะไม่เกรงกลัวการตรวจสอบด้วยซ้ำไป

เรียกน้ำย่อยด้วย...ตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องซักผ้าระบบอุโมงค์จำนวน 39.3 ล้านบาท

คุณหมอเกรียงศักดิ์ ชี้ว่า ทั้งที่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ดีเอสไอเพิ่งเข้าไปตรวจสอบวชิรพยาบาล สังกัดกรุงเทพมหานคร และรับไว้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งอาจส่อเจตนาทุจริตกรณีจัดซื้อเครื่องซักผ้าระบบอุโมงค์ในราคา 34 ล้านบาท

ตลอดจนกรณีการอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อเครื่อง Real time PCR หรือ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมกว่า 5 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาท

 “เครื่องหลังนี้...หลายหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็เพิ่งดำเนินการลงนามในสัญญา เพียงราคาเครื่องละ 3.5–4.3 ล้านบาทเท่านั้น”

ส่วนต่างเท่าไหร่ เครื่องละ 4-5 ล้านบาท...ไม่ต้องตีความให้เหนื่อย แค่ดูก็เห็นชัดเจน จะไม่ให้คนที่รู้ข้อมูลคิดได้อย่างไรว่า ตั้งเรื่องเอาไว้เพื่อกินทุกเม็ด ส่อเจตนาทุจริต

เรื่องอย่างนี้ คนที่ไม่รู้ก็ให้รู้เอาไว้ ที่ทำกันในการประมูลแม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่น่าจะยุติธรรม ถ้าเกิดการแข่งขันกันจริง สู้ราคาและคุณภาพจริง หน่วยงานราชการย่อมได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ปัญหามีว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะวงจรอุบาทว์...นั่นคือการฮั้วประมูล เพื่อให้ได้งาน ได้ส่วนต่างแบ่งกันกิน กันใช้

ขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เริ่มนับหนึ่งจากสารตั้งต้น...ตั้งราคาจัดซื้อเอาไว้สูงๆ แล้วบริษัทที่มาประมูลงานก็รู้กัน ราคาเท่านี้จะประมูลกันที่เท่าไหร่ ใครจะมาเข้าร่วมประมูลบ้าง...แล้วบริษัทไหนจะได้ส่วนต่างเท่าไหร่ ใครกินก่อน...ใครกินหลัง ไม่ต้องรอให้เปิดซอง ประกาศผลก็รู้กันแล้วอยู่แก่ใจ

สัญญาณที่อาจจะส่อถึงเค้าลางที่ว่าจะเป็นไปได้ หนังสือที่ สธ 0209.01/79 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 19 มีนาคม 2555 เรื่อง แจ้งการจัดสรรงบค่าเสื่อมเพื่อการบริหารจัดการระดับประเทศ งวดที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2555 ให้หน่วยบริการ เรียน เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สรุปใจความได้ว่า...ตามที่ได้แจ้งจัดสรรงบค่าเสื่อมมายังสำนักงานปลัดฯ จำนวนเงิน 527.9 ล้านบาทนั้น พิจารณาแล้วเห็นสมควรจัดสรรงบครั้งที่ 1 ให้หน่วยบริการทั้งสิ้น 89 ล้านบาท ดังรายละเอียด ดังนี้...

จังหวัดภูเก็ต รพ.วชิระภูเก็ต ชุดเครื่องมือตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นความถี่สูง (EUS) 1 เครื่อง ราคา 15 ล้านบาท...จังหวัดปทุมธานี รพ.ปทุมธานี เครื่องเดียวกัน ราคา 15 ล้านบาท...จังหวัดเชียงใหม่ รพ.นครพิงค์ เครื่องตรวจวัดวิเคราะห์ระบบถ่ายปัสสาวะ ราคา 5 ล้านบาท...จังหวัดตรัง รพ.สิเกา เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 300 KV ราคา 2 ล้านบาท และจังหวัดนครศรีธรรมราช รพ.ร่อนพิบูลย์ ตึกผู้ป่วยใน 4 ชั้น 19 ล้านบาท

ครุภัณฑ์ที่น่าสนใจ แพงมากเกินจริงหรือเปล่า

จับตาไปที่...จังหวัดนครราชสีมา รพ.มหาราช เครื่องสลายนิ่วโดยใช้เครื่องช็อคฯ 1 เครื่อง ราคา 16 ล้านบาท...จังหวัดอุบลราชธานี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมฯ ราคา 8.5 ล้านบาท...จังหวัดสงขลา รพ.หาดใหญ่ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมฯ ราคา 8.5 ล้านบาท

ยังมีงบงวดที่สอง ที่ออกมาในวันที่ 23 มีนาคมอีกฉบับ รวม 18 จังหวัด 23 รายการ รวมทั้งสิ้น 188.7 ล้านบาท รายการสุดท้าย รพ.ตรัง จังหวัดตรัง “เครื่องซักผ้าอัตโนมัติชนิดอุโมงค์ 1 ระบบ” ราคา 39.3 ล้านบาท

งบค่าเสื่อม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลาง 10% จะเกี่ยวกับการตัดตอน...ยื้อเวลาไม่ยืนยันการใช้งบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข 3,426 ล้านบาท ได้หรือไม่...ยังเป็นคำถาม

ราคาครุภัณฑ์งบค่าเสื่อมบางชิ้นสูงเกินจริงหรือไม่...ยังต้องรอหน่วยงานที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบ

มองในแง่ร้ายสุดๆ หากมีกลุ่มขบวนการทุจริต ตั้งใจโกงกินกันแบบไม่เช็ดปาก...งาบทั้งสองโครงการไปพร้อมๆกัน ทั้งเรียกรับผลประโยชน์เพื่อให้งบผ่านฉลุยโครงการไทยเข้มแข็ง และกินส่วนต่างงบค่าเสื่อมส่วนกลางคงไม่ใช่เรื่องน่าดีใจที่ในบ้านนี้เมืองนี้มีผู้จ้องหาผลประโยชน์กับความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์

ใครที่จะทำแบบนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าในหนังก็มีให้เห็น แต่ถ้าเป็นโลกความจริงคนคนนี้ต้องมีทั้งอำนาจและบารมี จึงจะงาบงบได้ทั่วประเทศขนาดนี้

มองลึกไปอีกขั้น มีหลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตให้คุณหมอเกรียงศักดิ์ฟังว่า ยามที่บริการสุขภาพรัฐอ่อนแอ บริการเอกชนก็ยิ่งมีโอกาสขยายธุรกิจมากขึ้น จะเป็นไปได้ไหม มีใครบางคนที่กำหุ้นใหญ่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คิดการใหญ่ บอนไซระบบสาธารณสุขภาครัฐ

 

ที่มา: http://www.thairath.co.th