โพสต์ทูเดย์ 19 มิ.ย.55- ป่วยมะเร็งซื้อยากินปีละล้าน ข้าราชการเบิกฟรี บัตรทอง-ประกันสังคมวืด
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของชาวไทย แต่ขณะนี้มียารักษาแล้ว ซึ่งมีเพียงผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ 5 ล้านคนเท่านั้นที่เบิกได้ ส่วนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)และประกันสังคมอีก 60 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงยา เนื่องจากมีราคาแพงและอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
นพ.พงศธร กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการจะต้องซื้อยาเอง ซึ่งต้องเสียค่ายาจำนวนมหาศาลอาทิ ยา Trastuzumab รักษามะเร็งเต้านมปีละ 1.18 ล้านบาท ยา Erlotinib รักษามะเร็งปอด ปีละ 1.12 ล้านบาท ยาRituximab รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปีละ 8.2 แสนบาท
"เมื่อผู้ป่วยรู้ว่ามียารักษามะเร็งได้ถามว่าใครไม่ต้องการ แต่เมื่อต้องจ่ายค่ายาปีละ 1 ล้านบาท ต่อไปตลอดชีวิต ถามว่าใครจะจ่ายไหว ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถทำให้ผู้ป่วยบัตรทองและประกันสังคม เข้าถึงยาได้เช่นเดียวกับสวัสดิการข้าราชการประวัติศาสตร์คงจะจารึกชื่อไว้"นพ.พงศธร กล่าว
นพ.พงศธร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เคยเจรจาต่อรองราคาด้วยวิธีการซื้อยารวม ทำให้ราคาลดลงถึง 60% แต่หาก 3 กองทุนสุขภาพร่วมกันซื้อยาก็จะยิ่งทำให้ราคาถูกลงกว่าเดิม พร้อมกันนี้อยากเสนอให้รัฐบาลปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เท่ากัน 3 กองทุน ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการในอัตราเดียว และให้3 กองทุนร่วมรณรงค์คัดกรองกลุ่มเสี่ยง
"ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ รัฐบาลจะประชุมร่วม 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อบูรณาการการรักษาโรคเอดส์และไตให้เป็นมาตรฐานเดียว จึงอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาโรคมะเร็งด้วย" นพ.พงศธร กล่าว
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ให้ความเห็นชอบมาตรการในระบบบริหารยาเวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์
ทั้งนี้ ได้แก่ การสร้างกลไกกลางในการเจรจาต่อรองราคายาที่มีราคาแพง กำหนดเป้าหมายการลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักและยาชื่อสามัญกำหนดกลไกกลางในการตรวจสอบและการเบิกจ่ายยา พัฒนาบัญชียาและรหัสยามาตรฐานเพื่อสนับสนุนการบริหารเวชภัณฑ์ ปรับอัตราการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมให้เป็นเอกภาพระหว่างกองทุน รวมถึงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจ่ายแบบตกลงราคาล่วงหน้าบริการผู้ป่วยนอก
- 113 views