นายกสภาเภสัชกรรม เผย ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับชื่อยาน้อยมาก โดยการที่ผู้ป่วยไม่รู้จักชื่อยาที่ใช้นั้นจะส่งผลอันตรายอย่างมาก อีกทั้ง คนไทยชอบแนะนำยาให้คนใกล้ชิดลองใช้เวลาที่ตนเองใช้ยาแล้วได้ผลดี ซึ่งอาจส่งผลให้อาจได้รับยาผิดเนื่อง
รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ผลการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องยาของผู้ป่วยเรื่องโรคเรื้อรัง ในกลุ่มตัวอย่างที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลใหญ่ 3 แห่งในภาคใต้และภาคกลางจำนวน 1,000 คน พบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 25 ที่รู้จักทั้งชื่อยาและสรรพคุณของยาที่ใช้อยู่ ในขณะที่ผู้ป่วย 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75 ไม่รู้จักชื่อยา รู้แต่สรรพคุณและวิธีใช้ นอกจากนี้ ร้อยละ 25 ไม่อ่านฉลากยาก่อนใช้ ทั้งนี้ อีกร้อยละ 25 หยิบยาใช้เอง ทั้งยังพบว่าปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับชื่อยาน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุมาจากชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษทำให้จำยากและไม่คุ้นหู ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องช่วยกันรณรงค์ เนื่องจากการที่ผู้ป่วยไม่รู้จักชื่อยาที่ใช้นั้นจะส่งผลอันตรายอย่างมาก เพราะยาที่ใช้รักษาอาการเดียวกันโรคเดียวกันมีหลายชนิด โดยยาบางตัวใช้ได้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น อีกทั้ง คนไทยชอบแนะนำยาให้คนใกล้ชิดลองใช้เวลาที่ตนเองใช้ยาแล้วได้ผลดี ซึ่งอาจส่งผลให้อาจได้รับยาผิดเนื่องจากรูปแบบเม็ดยา สียา อาจคล้ายคลึงกันส่งผลให้อาการหนักกว่าเดิม
ด้าน ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ กรรมการสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาการใช้ยาทางสภาเภสัชกรของไทยจึงได้จัดทำสมุดบันทึกยาขึ้นมาและแจกตามสถานพยาบาลที่ร่วมโครงการจำนวน 200,000 เล่ม เพื่อใช้บันทึกยาที่ผู้ป่วยได้รับในแต่ละครั้ง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับยาซ้ำซ้อน
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555
- 11 views