สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องตา โดยเฉพาะผ่าตัดตาต้อ โรงพยาบาลแห่งแรกๆ ที่จะนึกถึงคือ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
เพราะนอกจากมีทีมแพทย์ฝีมือดี เครื่องมือเครื่องไม้ทันสมัยครบถ้วน ยังค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการกันมากมายไม่เพียงคนในจังหวัด รอบปริมณฑล ยังมีอีกไม่น้อยที่เดินทางมาไกลบางรายนั่งรถไฟจากนครศรีธรรมราชเพื่อมารักษาตา
คุณภาพของงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการ เหนือกว่านั้นคือ "การให้บริการ" ด้วยความมีจิตอาสาของบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาล ที่ไม่เพียงดูแลผู้ป่วยทุกคนราวกับญาติมิตร แทบทุกเสาร์-อาทิตย์ ยังมีทีมหมอผ่าตัดตา นำโดย หมอพรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้จัดการศูนย์จักษุและต้อกระจก เดินทางลงพื้นที่ไปให้บริการแก่ผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
นพ.สุรพงษ์ บุญประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เล่าว่า "ตึกแฝดด้านหลังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่าที่ชื่อว่า 'ตึกย่า' (ตึกสมเด็จย่า 90 พรรษา) นั่นสมเด็จย่าทรงตั้งให้ด้วยพระองค์เองเมื่อครั้งที่ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา"
โรงพยาบาลบ้านแพ้วเมื่อก่อนเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก เป็นตึกชั้นเดียวสองชั้น คับแคบ ฉะนั้นในปี 2530 นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในตอนนั้นจึงศึกษาปัญหาแล้วระดมความคิดจากทุกคน ตั้งแต่เจ้าคณะอำเภอไปจนถึงคนในชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาร่วมรับรู้ แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วม เกิดเป็น "โรงพยาบาลกึ่งรัฐกึ่งเอกชน"
"ตอนนั้นสมเด็จย่าทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา นอกจากประชาชนเคารพเทิดทูนท่านมากแล้ว พระองค์ยังเป็นแรงบันดาลใจของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ทรงอุปถัมภ์แวดวงสาธารณสุข ทรงมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยตลอด ทางโรงพยาบาลจึงขอพระราชทานนามเป็นชื่อตึกที่สร้างใหม่ พร้อมพระปรมาภิไธย"
ผอ.สุรพงษ์บอก และว่า ตึกแฝด คือ ตึกย่า 1 และตึกย่า 2 ใช้งบประมาณในการจัดสร้างถึง 50-60 ล้านบาท เมื่อครั้งที่สร้างตึกย่า 1 ยังไม่มั่นใจว่าจะระดมทุนได้มากขนาดนี้ แต่ด้วยพระบารมีทำให้ตึกย่า 1 แล้วเสร็จจนได้ เช่นเดียวกับ ตึกย่า 2 ที่เพิ่งสร้างเมื่อ 3 ปีก่อน
ส่วนพระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่านั้นเพิ่งจัดสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้งเป็นการสร้างสำนึกของการมีจิตอาสา สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์
ในวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายนนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จไปทรงเป็นประธานในการเปิดพระราชานุสาวรีย์ ในตอนบ่าย พร้อมกันนี้ทรงเปิดหน่วยไตเทียม ซึ่งแต่เดิมมีเครื่องไตเทียมอยู่ 15 เครื่อง ตอนนี้ได้รับบริจาคเพิ่มอีก 15 เครื่อง รวมทั้งเปิดหอผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) อีก 10 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ทั้งหมดล้วนมาจากเงินบริจาคทั้งสิ้น และด้วยน้ำพักน้ำแรงของบุคลากรภายในโรงพยาบาลที่เลี้ยงตัวเองมานานถึง 13 ปีแล้ว!
ทางด้าน วรวุฒิ บุญเพ็ญ ที่ปรึกษาโรงพยาบาลบ้านแพ้ว อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบการบริหารของโรงพยาบาลบ้านแพ้วนอกจากจะเปิดให้ประชาชนทุกคนได้ร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาลแล้วที่สำคัญคือ การยึดหลักที่ว่า "ยิ่งให้ยิ่งได้" "เรามีหน่วย 'โฮมเฮลธ์แคร์' (Home Health Care) โดยมีทีมแพทย์/พยาบาลเวียนกันเดินทางไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรังถึงบ้าน ไปอาบน้ำ ตัดผม ฯลฯ ให้กับผู้ป่วย ไปทำให้แม่ ลูกก็พอใจ เป็นการผูกใจผู้ป่วย
ฉะนั้นแม้ว่าคนไข้ที่มาใช้บริการการรักษาที่นี่จะต้องรอคิวนานสักหน่อย แต่ทุกคนก็ยังยอมที่จะรอคิวเพื่อที่จะได้รักษาที่นี่ ส่วนคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะไปใช้บริการโรงพยาบาลสาขา ซึ่งปัจจุบันมีถึง 9 แห่ง เช่น ที่ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ที่แม่กลอง อำเภอดำเนินสะดวก มหาชัย ศูนย์ราชการ สาขาพร้อมมิตร ศูนย์ไต-วงเวียนใหญ่ ศูนย์ธนบุรี-โรงพยาบาลปิ่นเกล้า ซึ่งแต่ละแห่งที่เราไปเปิดสาขาล้วนมาจากการร้องขอด้วยกันทั้งสิ้น
ปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีผู้ป่วยโรคไตอยู่ในความดูแลมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เพราะทุกวันนี้การรักษาผู้ป่วยไตนั้นนอกจากวิธีการล้างไตแล้ว เรายังมีการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ที่นี่จึงมีโรงพยาบาลอื่นมาดูงานที่แผนกไตเทียมด้วย"
ถามว่าเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการมากขนาดนี้ จำนวนแพทย์พยาบาลที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่
วรวุฒิ อธิบายว่า ในแต่ละศูนย์จะมีแพทย์ประจำการแห่งละ 1 คน นอกจากนี้ยังให้ทุนสำหรับว่าที่แพทย์/พยาบาล ไปศึกษาต่อ เพื่อกลับมาทำหน้าที่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ โดยเน้นให้ทุนกับคนในพื้นที่นอกจากเป็นการส่งเสริมเด็กในพื้นที่ได้เรียนต่อแล้ว เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาทำงานที่นี่การดูแลย่อมต่างจากการรับบุคลากรจากที่อื่น เพราะจะดูแลเสมือนญาติพี่น้องนี่แหละเคล็ดลับผูกใจลูกค้า!
ที่มา : นสพ.มติชน 14 มิ.ย.2555
- 82 views