อนุ คกก.ยุทธศาสตร์ เปิดทางชงบอร์ด สปสช.จ่าย 30 บาทสมัครใจจ่าย เสนอเก็บนอกเวลาบริการปกติลดความขัดแย้ง ผู้ป่วย-ผู้ให้บริการ แก้ปัญหาค้านเก็บ ด้าน "ภาคประชาชน" ชี้ในทางปฏิบัติทำได้ยาก แนะเร่งประชาสัมพันธ์สิทธิจ่ายสมัครใจ พร้อมห่วงความขัดแย้งผู้ป่วย-ผู้ให้บริการ จากเงินจัดเก็บเพื่อพัฒนาบริการ
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ สปสช. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่ประชุมสรุปเตรียมเสนอบอร์ด สปสช. วันที่ 13 มิถุนายน นี้ ให้เริ่มเก็บ 30 บาทแบบสมัครใจและให้เก็บเฉพาะการไปใช้บริการนอกเวลาบริการปกติ ช่วง 13.00-16.00 น. ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบบัตรทอง เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกองทัพ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เท่านั้น และให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ขยายบริการผู้ป่วยบัตรทองในช่วงบ่ายเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. ที่จะถึงนี้
ที่ประชุมเห็นว่าการเก็บ 30 บาท เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศไว้ และเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนขณะเดียวกันให้ระบบบริการมีคุณภาพมากขึ้น จึงให้เก็บเงิน 30 บาทแบบสมัครใจเฉพาะการไปใช้บริการนอกเวลาบริการปกติในช่วงบ่ายที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยผู้ป่วยสามารถแสดงความจำนงไม่ร่วมจ่าย 30 บาทได้ และสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชนจะให้เก็บ 30 บาทจากผู้ป่วยแบบสมัครใจ เมื่อมีการพัฒนาศักยภาพการให้บริการดีขึ้นอย่างชัดเจนในภายหลัง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หากไม่จัดเก็บ 30 บาทได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่กรณีไม่มีทางหลีกเลี่ยง การเก็บ 30 บาทแบบสมัครใจก็เป็นทางออกพอรับได้ แต่เป็นห่วงว่าในทางปฏิบัติจะกลายเป็นกดดันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายนโยบายต้องทำให้ชัดเจน และต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าในการใช้ 30 บาท ประชาชนไม่ว่าคนจนคนรวยได้ร่วมจ่าย 30 บาทแล้ว โดยจ่ายผ่านภาษีที่ถูกจัดเก็บและนำมาเป็นงบประมาณ ดังนั้นไม่ว่าประชาชนจะจ่าย 30 บาทหรือไม่ ก็ถือว่าได้ร่วมจ่ายอยู่แล้ว ขณะที่ประชาชนที่ใช้ 30 บาท โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้หาเช้ากินค่ำต้องแบกรับภาระการขาดรายได้และค่าเดินทางในการไปหาหมออยู่แล้ว ต่างจากผู้ประกันตนและข้าราชการที่มีรายได้เป็นเงินเดือน
นอกจากนี้เห็นว่ารัฐบาลควรรับผิดชอบใส่งบประมาณเพื่อพัฒนาการบริการให้กับหน่วยบริการมากกว่านี้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้หน่วยบริการคาดหวังเงินจากการจัดเก็บ 30 บาท เพื่อนำมาใช้พัฒนา หรืออุดหนุนกิจกรรมบริการสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ข้อเสนอเก็บ 30 บาทแบบสมัครใจ ถ้าไม่มีการบังคับผู้ป่วยจริงก็ไม่ต่างจากที่ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ทำอยู่แล้ว ที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยบริจาคครั้งละ 30 บาท หรือผู้ป่วยบางคนอาจบริจาคให้โรงพยาบาลมากกว่า จึงมองว่าเป็นการถอยหนึ่งก้าวโดยรัฐบาลแบบไม่เสียหน้าอะไร ถึงแม้จะไม่ได้ทำตามที่ประกาศนโยบายจะเก็บ 30 บาทอีกครั้งก็ตาม
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 13 มิ.ย. 55
- 10 views