แพทย์ มข. ชี้แนวนโยบาย Quick Win 100 วัน สธ. เริ่มเป็นรูปธรรม มีแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน เผยข้อกังวลใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ควรมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง รพ. หวั่นปัญหาการรักษาที่ซ้ำซ้อน
ภายหลังการประกาศนโยบายเร่งด่วนหรือ Quick Win 100 วัน โดยล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เน้น 10 ประเด็นควบรวมจาก 13 ประเด็น และเดินหน้ายกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค
สำนักข่าว Hfocus ได้สัมภาษณ์ นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึงความคิดเห็นเรื่องความคืบหน้าของนโยบาย Quick Win 100 วันว่า นโยบายไหนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และมีคำแนะนำอย่างไร
ห่วง! ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ อาจมีการรักษาที่ซ้ำซ้อน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้นโยบายต่าง ๆ มีการขยับเป็นแนวทางปฏิบัติที่ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค การใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับการรักษาได้ในบางเขตสุขภาพ แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลในเขตสุขภาพต่าง ๆ ว่า เชื่อมโยงข้อมูลกันเป็นอย่างดีแล้วหรือไม่ สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การรักษาที่ซ้ำซ้อน โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ดีขึ้นตามที่คาดหวังจะเคลื่อนย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ต้องมีการขอใบส่งตัว ส่งต่อข้อมูล แต่ถ้าใช้บัตรประชาชนใบเดียว เข้าสู่โรงพยาบาลจังหวัดหรือไปสู่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยได้ หากการเชื่อมโยงข้อมูลยังไม่เรียบร้อย อาจทำให้เกิดปัญหาการตรวจรักษาที่ซ้ำซ้อนได้
นพ.สมศักดิ์ เสริมว่า นโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจว่า เวลาเจ็บป่วยควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อนเสมอ ถ้าการรักษาไม่ดีขึ้นจริง ๆ ก็ควรมีการส่งต่อข้อมูลจากโรงพยาบาลชุมชนสู่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยต่อไป
แนะเพิ่มตำแหน่งบุคลากรแล้ว ควรเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ
เมื่อถามถึงภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า หนึ่งในนโยบาย Quick Win ที่รัฐบาลแถลงไว้ คือ การสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากร ลดภาระงาน และการเพิ่มบุคลากร ในตอนนี้ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนตรงนี้อย่างชัดเจน ยังไม่เห็นถึงการเพิ่มตำแหน่งบุคลากรในโรงพยาบาล ดังนั้น ภาระงานก็ยังไม่ได้ลดลง แต่เข้าใจว่า ภายใน 100 วัน ยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าเป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ในการเพิ่มบุคลากรให้มีความเหมาะสม และลดภาระงานที่ไม่จำเป็นในโรงพยาบาลลง คิดว่า เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง อีกทั้งควรเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เพราะค่าตอบแทนอาจใช้ระเบียบเดิมอยู่
นโยบาย Telemedicine ควรมีทางออกให้ผู้ป่วยที่ใช้แอปไม่เป็น
ส่วนการใช้ Telemedicine เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การใช้ Telemedicine ช่วยลดความแออัดได้แน่นอน ซึ่งควรทำควบคู่ไปกับการส่งยาถึงบ้าน ปัจจุบันระเบียบของกรมบัญชีกลางที่มีการแถลงไว้ ต่อไปนี้ใครใช้สิทธิข้าราชการต้องมายืนยันตัวตนจริง ใช้บัตรประชาชนจริงที่โรงพยาบาล หรือใช้แอปพลิเคชัน ตรงนี้อาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ป่วยที่เข้าแอปพลิเคชันไม่ได้ การรอรับยาที่บ้านก็จะมีปัญหาด้วย จึงต้องหาทางออกให้ผู้ป่วยที่ใช้แอปพลิเคชั่นในการยืนยันตัวตนไม่ได้ ให้สามารถใช้งานระบบ Telemedicine ได้
"Telemedicine ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถตรวจกับแพทย์โดยตรงได้ จึงช่วยลดภาระงาน ลดความแออัดลงไปได้ ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่มีปัญหาในการใช้ Telemedicine แต่ผู้ป่วยสูงอายุ เช่น คนไข้อัมพฤกษ์ อัมพาต ก็อาจมีปัญหา ใช้ระบบนี้ไม่เป็น จึงควรมีการใช้ Telemedicine ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. เป็นคนช่วยเหลือในส่วนนี้ก็จะเป็นทางออกได้ แต่ก็ต้องดูว่า เจ้าหน้าที่จะช่วยผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนได้หรือไม่"
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีคำแนะนำหรือข้อห่วงใยต่อนโยบายสาธารณสุขหรือไม่ และมีนโยบายไหนที่คิดว่าเร่งด่วน นพ.สมศักดิ์ เสริมว่า ปัญหาหนึ่งของประชาชนที่อยู่ตามอำเภอต่าง ๆ หรือโรงพยาบาลชุมชน คือ ระบบการส่งต่อแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นนโยบายที่แถลงไว้เรื่องพัฒนา รพ.ชุมชนแม่ข่าย ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการตรวจผู้ป่วย ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการส่งต่อของโรงพยาบาลชุมชนเข้าสู่ โรงพยาบาลจังหวัดเพียงอย่างเดียว จะก่อให้เกิดความแออัดได้ ถ้าแต่ละจังหวัดมีโรงพยาบาลเครือข่ายที่แบ่งเบาได้ คิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงานจากโรงพยาบาลจังหวัด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
มุมมองแพทย์ มข. ต่อข้อห่วงใย ‘ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค’ เลือกหมอ เลือกรพ.ได้
“ชลน่าน” เปิดลิสต์ 10 ประเด็นยกระดับบัตรทอง นโยบายควิกวิน ทำให้ได้ 100 วัน
- 568 views