นพ.นิพนธิ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเพิ่มความรู้ด้านห้องปฏิบัติการด้านเภสัชภัณฑ์ให้แก่ผู้ผลิตยาในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อวางเกณฑ์มาตรฐานของห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพยาของอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกประเทศ และง่ายต่อการส่งออกและนำเข้ายา ว่า โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก The United States Pharmacopeial Convention (USP) ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการตรวจสอบยาที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเน้นการตรวจสอบยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากมีสูตรและสารที่คงตัว

นพ.นิพนธิ์ กล่าวว่า ในอีก 3 ปี หรือในปี 2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างมาตรฐานยาที่มีคุณภาพ ทั้งการส่งออกและนำเข้า เช่น ยาต้องมีคุณภาพมีความคงตัวของสาร และติดฉลากมาตรฐานเดียว ฯลฯ สำหรับไทยในปัจจุบันมีการส่งออกยาแผนปัจจุบันไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา ปีละ 6,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นยาสามัญ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาหัวใจ ยาความดันโลหิต และยาเบาหวาน

ด้าน ภก.ทัฬห ปิงเจริญกุล ผู้อำนวยการสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาในไทยถือว่าได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับสามารถส่งออกไปในประเทศสมาชิกได้หมด ยกเว้น อินโดนีเซีย เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนยาในประเทศที่เข้มงวดไม่เหมือนประเทศอื่น โดยกำหนดให้ต้องมีจดทะเบียนร่วมกับบริษัทยาในประเทศดำเนินการ และต้องแสดงสูตรยา ซึ่งจุดนี้น่ากังวลมากอาจ มีการนำสูตรยาของไทยไปใช้ได้

ภก.ทัฬหกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนไปยังกรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ให้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกำหนดให้มีการสร้างมาตรฐานร่วมกัน แต่หากอินโดนีเซียยังใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็จะเกิดความไม่เท่าเทียมกันในประเทศสมาชิก จึงอยากให้รัฐเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมยาไทยให้สามารถแข่งขันกับ นานาประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้ายาต่างประเทศที่มีมูลค่าปีละ 30,000 ล้านบาท

"เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.)ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยจะมีการประชุมการเตรียมความพร้อมด้านยาในกลุ่มประเทศอาเซียน ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคมนี้ ที่โรงแรมสยามซิตี้ ซึ่งสมาคมไทยอุตสาหกรรมฯ จะเสนอปัญหานี้ในที่ประชุมด้วย" ภก.ทัฬหกล่าว

 

--มติชน ฉบับวันที่ 7 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--