สรุปข่าวสำคัญ ข่าวร้อนในแวดวงสาธารณสุขประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา ติดตามได้ที่นี่
1.ครม.อนุมัติงบรายหัวปี 2556 จำนวน 2,755 บาท พร้อมอนุมัติงบบริหารจัดการอีก 1,200 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ สำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 วงเงิน 109,718.58 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อัตราเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับ 2,755.60 บาทต่อประชากร และอนุมัติงบประมาณในส่วนงบบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1,200 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เห็นชอบให้ตั้งงบเหมาจ่ายรายหัวระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปีงบประมาณ 2556 อยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อหัว ลดจากปี 2555 เป็นเงิน 141 บาทต่อหัว หรือลดลง 4.9% ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้นำเสนองบเหมาจ่ายรายหัวตามมติของบอร์ด อยู่ที่ 2,939.73 บาทต่อคน เข้าพิจารณาใน ครม. อีกครั้ง
2. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก้าวสู่ทศวรรษที่สอง พบสถิติคนไทยมีอายุขัยเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2555 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งในขณะนี้ครบ 10 ปี และกำลังจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สอง ซึ่งจากข้อมูลหน่วยงานทางวิชาการ ได้รายงานอัตราการเกิดและเสียชีวิตของประชาชนไทย พบว่าคนไทยมีอายุขัยเพิ่มขึ้น จากรายงานของหลายหน่วยงานพบว่า อัตราการตายของทารกเมื่อแรกคลอดลดลง โดยในปี 2533 อัตราการตายของทารกต่อการเกิดมีชีวิต 1,000 คน คือ 38.8 คน และลดลงเรื่อยๆ ในปี 2534 เป็น 34.5 ปี 2538 เป็น 26.1 และปี 2548 เป็น 11.3 ขณะที่อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ก็ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ จากปี 2545 อัตราการตายของเด็กที่อายุต่ำกว่า5 ปี อยู่ในอัตรา 11.7 ต่อการเกิดมีชีวิตต่อ1,000 คน ลดลงเป็น 9.5 ต่อการเกิดมีชีวิต 1,000 คน ในปี 2552 อัตราการตายของมารดาต่อการเกิดมีชีวิตลดลง จากปี 2545 ที่อยู่ในอัตรา 14.7 ต่อการเกิดมีชีวิต1,000 คน ลดลงเป็น 10.7 ต่อการเกิดมีชีวิต 1,000 คน
ขณะที่อัตราการตายของประชากรไทยวัยแรงงาน จาก 4.1 ต่อประชากร 1,000 คนในปี 2541 เป็น 3.2 ต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2551 และอัตราการตายด้วยสาเหตุสำคัญของคนไทยปี 2530-2552 พบว่า โรคหัวใจ มาลาเรีย วัณโรค อุจจาระร่วง และเอดส์ลดลงอย่างมาก รวมถึงอัตราการตายจากอุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ตัวชี้วัดด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้จะดีขึ้นในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา แต่ปัญหาสาธารณสุขที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปยังเป็นปัญหาท้าทายระบบสาธารณสุของประเทศไทยที่ สปสช.จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น
3. สธ.เตรียมกวาดแรงงานต่างด้าวเข้าระบบหลักประกันสุขภาพ
วันที่ 3 มิถุนายน 2555 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยเร่งรัดการพิสูจน์สัญชาติให้แรงงานหลบหนีเข้าเมือง ที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการตรวจสุขภาพให้แรงงานดังกล่าว หลังจากนั้น แรงงานต่างด้าวจะต้องเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ 2 กลุ่ม คือ 1.ประกันสังคมในผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับคนไทยที่ประกันตน กลุ่มที่ 2 คือผู้ที่ไม่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในภาคประมง เกษตรกรรม กรรมกร เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ งานบ้าน รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนคน
กลุ่มแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น กรรมกร รับจ้างภาคเกษตร ประมง งานบ้าน ให้ซื้อหลักประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในอัตรา 1,300 ต่อคนต่อปีทุกคน รวมทั้งผู้ติดตามด้วย ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกันโรค ส่วนผู้ที่รอเข้าสู่ระบบของประกันสังคม ให้ซื้อหลักประกันสุขภาพชั่วคราวในอัตราคนละ 650 บาท คุ้มครองสิทธิได้ 6 เดือน ตั้งแต่ 15 มิถุนายน - 15 ธันวาคม 2555 โดยให้ซื้อประกันสุขภาพได้ที่สถานบริการที่เข้าร่วมโครงการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ของกระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดที่แรงงานทำงานอยู่เท่านั้น
4. สธ. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จำนวน 3.55 ล้านคนฟรี ตั้งแต่ 1 มิ.ย. - 30 ก.ย. 55
วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 มีการแถลงข่าว กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสปสช. และองค์การเภสัชกรรม จัดโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประจำปี 2555 เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มฟรี ได้แก่ 1. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง มะเร็งที่กำลังรับเคมีบำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ 2. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 3. ผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 4. ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
5. เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี 6. หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และ 7. บุคลากรทางการแพทย์เจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสัตว์ปีก รวมทั้งหมด 3,550,000 คน ซึ่งได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 1 ล้านคน โดยโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณของ สปสช.กว่า 500 ล้านบาท ให้บริการฉีดที่โรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน จนถึง 30 กันยายน 2555
5. พบโรคระบาดในหมู่ทหารเกณฑ์ รพ.ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก ประกาศปิดกักกันโรค
วันที่ 2 มิถุนายน แหล่งข่าวภายในโรงพยาบาลพระยาพิชัยดาบหัก ระบุว่า ขณะนี้มีทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1 สังกัดกองพันทหารม้าที่ 7 กรมทหารม้าที่ 2 ล้มป่วยลงด้วยอาการปอดติดติดเชื้อ เบื่ออาหาร เหนื่อยหอบ มีอาการเหมือนไข้หวัด ระบบทางเดินหายใจ จำนวนกว่า 40 นาย โดยหนึ่งในจำนวนนี้อาการเข้าขั้นโคม่า ต้องนอนรักษาตัวและดูอาการอยู่ในเขตกักกันเชื้อ ห้องไอ.ซี.ยู. และเสียชีวิตแล้ว 1 ราย อีก 1 ราย อาการเริ่มทรุดหนักจนน่าเป็นห่วง
ขณะที่นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ระบุว่าเบื้องต้นเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ทราบสายพันธุ์ ยืนยันแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ความมั่นใจว่าสามารถควบคุมโรคได้แล้ว และไม่มีการแพร่ระบาดออกสู่ภายนอก
6. ร้องปวีณาโรงพยาบาลเอกชนทำลูกแรกคลอดตาย
วันที่ 27 พฤษภาคม 2555 นายวรยุทธ์ ถาวรพร อายุ 40 ปี อาชีพขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อม น.ส.ผุสชา แย้มศรี อายุ 24 ปี อาชีพแม่บ้าน สองสามีภรรยาได้เข้าร้องเรียนกับ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เพื่อขอความช่วยเหลือหลังจากที่ภรรยาซึ่งตั้งครรภ์ได้ 7 เดือนเศษ เข้าตรวจครรภ์ตามปกติที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่แพทย์ให้ยาเร่งคลอดและไม่ได้ให้ออกซิเจน ทำให้ลูกชายที่เพิ่งคลอดได้เพียง 14 ชั่วโมงต้องเสียชีวิตพร้อมหลักฐานประวัติการรักษา บันทึกประจำวัน หนังสือรับรองการตายของ ด.ช.ทิวากร ถาวรพร ที่ระบุสาเหตุการตายเนื่องจากหัวใจล้มเหลว
ทางโรงพยาบาล (โรงพยาบาลอนันต์พัฒนา ย่านบางกรวย) ชี้แจงว่า ผู้ป่วยย้ายจาก รพ.รัฐบาลแห่งหนึ่ง (รพ.วชิระ)มาที่ รพ.ด้วยการใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพทั่วหน้า ขณะที่ย้ายมานั้นคนไข้แสดงสมุดการฝากครรภ์ว่ามีอายุครรภ์ได้ 35 สัปดาห์ และเมื่อคนไข้อายุครรภ์ได้ 37 สัปดาห์กับ 4 วัน แพทย์จึงทำคลอดให้ ซึ่งคนไข้ก็คลอดเองตามธรรมชาติ ในเวลา 16.15 น. ไม่ใช่การคลอดก่อนกำหนด ภายหลังจากคลอดแล้วทาง รพ.ให้พักดูอาการต่ออีก 2 ช.ม.ในห้องคลอด ถึงจะย้ายไปห้องพักฟื้น ซึ่งเป็นห้องแบบ 2 เตียงพัก เด็กคลอดออกมาด้วยน้ำหนัก 1.9 ก.ก. ซึ่งถือว่าน้ำหนักปกติไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจน แต่ทาง รพ.ก็ให้กันไว้เพื่อความปลอดภัย
ซึ่งในคืนที่เด็กเสียชีวิตนั้นเวลา 19.00 น.และ 02.00 น.พยาบาลเข้าไปตรวจอาการของเด็กตลอด ซึ่งยังปกติดี แต่พอเวลา 04.00 น.พยาบาลเข้าไปตรวจอีกทีเด็กมีอาการตัวเขียว พยาบาลจึงเรียกแพทย์มาดูอาการ ซึ่งแพทย์บอกว่าเด็กเกิดการสำลักจึงดูดของเสียออก พบว่ามีน้ำนมจำนวนมากออกมาจากการดูด เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากการสำลักนม และเสียชีวิตในเวลา 04.30 น. ทั้งนี้ รพ.ส่งเด็กไปตรวจที่สถาบันนิติเวชแล้ว
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี เตรียมประชุมพิจารณา เพื่อจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น 200,000 บาท ตามมาตรา 41 ให้กับผู้เสียหายแล้ว
นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่าเบื้องต้นการสอบข้อเท็จจริงจากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ที่อยู่เวรในวันเกิดเหตุ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นเพราะออกซิเจนหมด เหมือนที่พ่อแม่เด็กกล่าวอ้าง แต่อาจเกิดจากการสำลักนม เพราะการดูดเสมหะของเด็กพบว่ามีนมปนเปื้อนออกมาด้วย ประกอบกับเด็กคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย อาจไม่มีแรงสำลักนมออกมาด้วยตัวเอง ทำให้ขาดออกซิเจน อย่างไรก็ตามขณะนี้รอผลการตรวจสอบมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ และผลการชันสูตรศพเด็ก จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รวมถึง สอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากฝ่ายผู้เสียหายอีกครั้ง ก่อนที่จะสรุปสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงต่อไป
7. ผวา! ผลวิจัยชี้อีก18 ปี ผู้ป่วยมะเร็งพุ่ง75% ประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยงมากสุด
สำนักงานเพื่อการค้นคว้าวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (ไอเออาร์ซี) หน่วยงานในสังกัดองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เปิดเผยผลการศึกษาว่า ภายในปี 2573 หรืออีก 18 ปีข้างหน้านี้ จะมีประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นในสัดส่วนถึงกว่า 75% หรือจะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากคนในประเทศเหล่านี้รับรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพของชาวตะวันตก
ผลการศึกษายังระบุอีกว่า คนในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ต่างคาดหวังจะเห็นการยกระดับมาตรฐานชีวิตให้ดีขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ทว่ามาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นอาจต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงโรคมะเร็งหลากชนิดที่เพิ่มขึ้นไปด้วย อาทิ มะเร็งทรวงอก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภค ไม่ออกกำลังกาย และพฤติกรรมอีกหลายอย่างที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ในปี2551 ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นใหม่ 12.7 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 22.2 ล้านคน ในปี 2573 ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 90% นั้น คาดว่ามาจากประเทศที่ยากจน
8. ศิริราชมั่นใจ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” พร้อมเปิดปลายปีนี้ ชูศูนย์วิจัยใหม่
วันที่ 2 มิถุนายน 2555 ศ. คลินิก นพ. อุดม คชินทร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า โครงการ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 5 โครงการ คือ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โครงการศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช สวนเฉลิมพระเกียรติ และพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานในจำนวนโครงการทั้งหมด โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์หรือ SiPH เป็นโครงการแรกที่เปิดดำเนินการในส่วนแรกแล้วเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะค่อยๆ ทยอยเปิดส่วนที่ 2 และ 3 ต่อไปใน 2 ปีข้างหน้านี้
ส่วนโครงการที่เหลือจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ ได้แก่ ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว 70% การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราชซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกับโรงพยาบาล SiPH ก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการได้แล้วบางส่วน สวนเฉลิมพระเกียรติ และพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
9. ดีเอสไอแจ้งข้อหาผอ.รพ.ทองแสนขัน ทุจริตยาซูโดฯ
วันที่ 1 มิถุนายน 2555 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ดีเอสไอ แจ้งข้อหา นพ.สาโรจน์ ใจมุข ผู้อำนวยการ รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ว่าปฎิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา 157 หลังร่วมกับนายธีรพงษ์ เอี่ยมอ่อน เภสัชกรของโรงพยาบาล จัดซื้อยาแก้หวัดสูตรซูโดฯ 1.3 ล้านเม็ด โดยใช้เงินของคนนอกที่เป็นผู้ต้องสงสัยที่มีพฤติการณ์ออกกว้านซื้อยาแก้หวัดสูตรซูโดฯ ส่งผลิตยาเสพติด โดยไม่นำยาแก้หวัดสูตรซูโดเข้าคลังยา รพ. ขัดกับระเบียบพัสดุสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้การจัดซื้อต้องใช้เงินทางราชการ และให้จัดส่งพัสดุที่จัดซื้อเข้าหน่วยงานราชการ สอบสวนเบื้องต้น นพ.สาโรจน์ ให้การปฏิเสธ อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนต่อไป
สำหรับตัวการรายใหญ่ที่เป็นผู้ส่งสายไปรวบรวมยาแก้หวัดสูตรซูโดอีเฟดีนจากโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อส่งไปผลิตเป็นยาเสพติดตามตะเข็บชายแดนทางภาคเหนือนั้น พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้นำหลักฐานไปขออนุมัติหมายจับจากศาลในช่วงบ่ายวันที่ 31 พ.ค. แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ต้องหาได้ เนื่องจากอาจไหวตัวหลบหนี โดยดีเอสไอได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สะกดรอยตามประกบตัวและเฝ้าติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของการสอบสวนของกระรวงสาธารณสุขนั้น มีผู้ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง 9 คน ได้แก่ 1. เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลอุดรธานี 2. เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 3. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองแสนขัน 4. เภสัชกรชำนาญ โรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 5. เจ้าพนักงานเภสัชกรรมชำนาญงาน โรงพยาบาลกมลาไสย 6. เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลฮอด จ.เชียงใหม่ 7. เจ้าพนักงานเภสัชกรรมปฏิบัติงาน โรงพยาบาลฮอด 8. เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ และ 9. เภสัชกร โรงพยาบาลหนองกี่ จ.บุรีรัมย์
ส่วนข้าราชการอีก 5 คน ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรง ได้แก่ 1. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 2. เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลกมลาไสย 3. เจ้าพนักงานเภสัชกรรมปฏิบัติงาน โรงพยาบาลกมลาไสย 2 คน และ 4. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฮอด
10. นักวิจัย มข.พบยีนมะเร็งท่อน้ำดีกลายพันธุ์ ชี้ประโยชน์ค้นหาผู้ป่วย วางแผนรักษา
วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 คณะแพทยศาสตร์ มข. จัดแถลงข่าว “การค้นพบยีนกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดี” โดยมี รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และ ผศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ในฐานะคณะนักวิจัย ร่วมให้ข้อมูลต่อการวิจัยค้นพบยีนกลายพันธุ์ที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดี
โดยการวิจัยครั้งนี้คณะนักวิจัยได้ตรวจหาลำดับเบสของยีนทั้งหมดในเนื้อเยื่อมะเร็งท่อน้ำดี เปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อตับปกติ จำนวน 8 ตัวอย่าง โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย Exome capture re-sequencing ทำให้สามารถตรวจหาลำดับของยีนทั้งหมดของเซลล์ในเวลาเดียวกัน และใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเนื้อเยื่อมะเร็งท่อน้ำดีมียีนที่ผิดปกติจำนวน 187 ยีนหรือเฉลี่ย 26 ยีนต่อตัวอย่างของผู้ป่วย 1 ราย
จากข้อมูลนี้คณะนักวิจัยได้เลือกยีนกลายพันธุ์ 15 ยีนที่พบบ่อยมาตรวจสอบต่อในกลุ่มตัวอย่างมะเร็งท่อน้ำดีอีก 46 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบยีนกลายพันธุ์ 7 ยีนที่พบบ่อยในผู้ป่วย 10-45% และ 4 ใน 7 ยีนกลายพันธุ์นี้เป็นยีนที่ไม่เคยมีการรายงานมาก่อน ได้แก่ MLL3, GNAS, ROBO และ RNF43
ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญทำให้นักวิจัยเข้าใจกลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้มากขึ้น ทำให้ทีมนักวิจัยทราบความผิดปกติของยีนที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดี สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตรวจหาคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งชนิดนี้ เป็นแนวทางพัฒนาการรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ใน Nature Genetics ซึ่งเป็นวารสารนานาชาติที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพ ตีพิมพ์เมื่อ 11 เมษายน 2555
- 11 views