1.การสรรหาเลขาธิการ สปสช.
ความคืบหน้าการสรรหาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งคณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกไว้ 3 ท่าน คือ 1.นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสปสช. 2.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 3.นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคาดว่าในการประชุมบอร์ด สปสช. ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 จะมีการคัดเลือกเลขาธิการสปสช. คนใหม่
ล่าสุด นพ.ธงชัย ซึงถาวร ผู้สมัครเลขาธิการสปสช. ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ คณะกรรมการสรรหา ต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 (ดู http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_frontpage&Itemid=1)ว่ากระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม เนื้อหาสำคัญของคำฟ้อง รายละเอียดดังนี้
1.ขอให้ยกเลิกการเป็นกรรมการสรรหาของ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ซึ่งเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นกรรมการสรรหา เพราะถือว่าเป็นผู้มีมีส่วนได้เสีย และอาจจะทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง เนื่องจากนายนิมิตร์ เป็นกรรมการและผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ที่รับการสนับสนุนจากสปสช. เพื่อดำเนินกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ภายใต้ชื่อโครงการพัฒนาระบบและคุณภาพบริการปรึกษาในการดูแลรักษาผู้ติดเชื่อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ในช่วงระหว่างการสรรหาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ
2.ขอให้ศาลยกเลิก เพิกถอนมติของผู้คณะกรรมการสรรหาที่เลือก นพ.วินัย สวัสดิวร นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่ชัดเจน แต่ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา
3.ขอให้ศาลมีคำสั่งชะลอและหรือระงับการพิจารณา และมีมติในการทำสัญญาจ้างและแต่งตั้งบุคคลเป็นเลขาธิการสปสช. ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจาก นพ. วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สปสช. นั้นในระหว่างปฏิบัติงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการว่า สปสช. ใช้จ่ายไม่ถูกต้อง
2.การดำเนินงานเพื่อป้องกันไข้เลือดออก
ในช่วงหน้าฝน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกและมีน้ำขัง จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 พฤษภาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 8,934 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 13.99 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย
ทั้งนี้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ จะประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง และรณรงค์ให้ประชาชนปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วย 5 ป.ปราบยุงลาย (ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง และปฏิบัติจนเป็นนิสัย) ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง และปฏิบัติตนเองจนเป็นนิสัย
3.ประชาชนยื่นฟ้องปปช.ให้ตรวจสอบการทุจริตของสธ.
วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ผู้แทนกลุ่มประชาชนปฏิวัติองค์การอิสระทุจริตต่อหน้าที่และเงินแผ่นดิน นำโดย นส.ศรีวรินทร์ บุญทับ นายสมบูรณ์ บัวดี และนายนพพล น้อยบ้านโง้ง เข้ายื่นหนังสือต่อปปช. ขอให้ตรวจสอบกรณีทุจริตต่อเงินแผ่นดินและทุจริตต่อหน้าที่ของผุ้บริหารกระทรวงสาธารณสุข 5 กรณี คือ
1.กรณีทุจริตจัดซื้อและตรวจรับรถพยาบาลระดับสูง 232 คัน ตามที่สตง.มีหนังสือแจ้งให้เอาผิดทางแพ่ง อาญา วินัย กับ ขรก.กว่า 20 คน
2.กรณีทุจริตจัดซื้อรถฉุกเฉินที่เชียงใหม่
3.กรณีจัดซื้อเครื่องฟอกไต 5 โรงพยาบาลสังกัดสป.สธ.ในการสั่งการดูแลของ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.
4.การทุจริต และขโมยยา ซุโดเอเฟรดีน ในโรงพยาบาลหลายแห่งสังกัด สป.สธ.ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้อยู่ในการดูแลสั่งการของปลัด สธ. นายวิทยา ไม่ตรวจสอบข้าราชการระดับสูงที่มีข้อมูลน่าสงสัยเกี่ยวข้องกับการทุจริตยาซูโดฯ นี้แต่อย่างใด เพื่อหาต้นตอคนผิดหรือสั่งการ
5.ละเว้นไม่ตรวจและกำจัดสารพิษ กรณีสารพิษบ่อขยะสระบุรี สารพิษคลิตี้ล่างที่กาญจนบุรี และที่โรงงานระยองระเบิด เร็วๆ นี้ 2 ครั้งติดกันในสัปดาห์เดียว
4.ความคืบหน้าการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาทรูวาดาของสหรัฐ และผลการทดลองวัคซีนในไทย
คณะกรรมาธิการที่ปรึกษายาต้านไวรัสของสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐ มีมติเยงข้างมากเห็นชอบให้จ่ายยาทรูวาดา (ยานี้ผ่านการทดลองทางคลินิกว่าสามารถลดความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายชาวเกย์ได้ 44-73% และยังได้รับการยกย่องจากหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ว่าเป็นเครื่องมือใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อไวรัส) แก่ชายชาวเกย์ ซึ่งมีผลเลือดเป็นลบ และเห็นชอบให้จ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีคู่ขาที่มีผลเลือดบวก พร้อมทั้งมีมติควรอนุมัติให้ยาสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อเอชไอวีผ่านกิจกรรมทางเพศ
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายคนกังวลว่า ยาชนิดนี้อาจมีส่วนสนับสนุนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ สำหรับการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของเอฟดีเอเกี่ยวกับยาทรูวาดานั้น คาดว่าจะไม่เกินวันที่ 15 มิถุนายน
ในขณะที่ในประเทศไทย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม รักษาราชการศูนย์วัคซีนเอดส์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการทดลองใช้วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคเอดส์ ที่ใช้ด้วยวิธีการปูพื้นแล้วกระตุ้น ได้ผลอยู่ที่ประมาณ 60% ทำให้เกิดผลในเชิงป้องกันได้และศึกษาต่อเนื่อง ด้วยการใช้วัคซีนรูปแบบเดิม เพื่อศึกษาลักษณะการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในเลือด รวมทั้งของเหลวในร่างกายโดยเฉพาะสารคัดหลั่งจากปากมดลูก น้ำอสุจิ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษาอีก 2 โครงการ โดยใช้ชื่อว่าอาร์วี 305 และอาร์วี 306 ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ อาร์วี 305 เป็นการทดสอบระยะที่ 2 โดยเพิ่มเติมด้วยการกระตุ้นซ้ำในอาสาสมัครกลุ่มเดิมจากโครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3 ที่ได้รับวัคซีนครบและไม่ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งได้เริ่มโครงการไปแล้วโดยให้วัคซีนกระตุ้น 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน สำหรับโครงการอาร์วี 306 นั้นจะเริ่มต้นอีก 2-3 เดือนข้างหน้าโดยจะฉีดวัคซีนเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนระยะเวลาในการทราบผลของอาร์วี 306 นั้นไม่เกิน 3 ปี
5.ความคืบหน้าการสอบสวนคดียาซูโดฯ
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะทำงานการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นำโดย พ.ต.ท.สุวัฒน์ ปราสัยระบิน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานคดีของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เดินทางมาทำการสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตในโรงพยาบาลอุดรธานี โดยเฉพาะยาแก้หวัดที่มีสารซูโดอีเฟดรีนที่หายไป และระบุว่า นายสมชาย แซ่โค้ว ไม่สามารถทำการได้คนเดียว น่าจะมีคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ
นอกจากจะมีการตรวจสอบการทุจริตเรื่องยาแล้ว ทาง ป.ป.ท.ยังได้มีการตรวจสอบในเรื่องทุจริตอีกหลายอย่างของโรงพยาบาล เช่น การใช้เงินกองทุนสวัสดิการ การจัดซื้อยาของโรงพยาบาล การนำรถราชการไปใช้ส่วนตัว การใช้เงินของโรงพยาบาลไปศึกษาต่อ เป็นต้น
ในขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีพบการลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน จากไต้หวันเข้าประเทศไทย ซึ่งได้สืบสวนข้อมูลเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยไต้หวันรวบรวมข้อมูล และหลักฐานได้มากพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่พบว่าบริษัทยาที่ผลิตยายี่ห้อโคโคโค่ ส่งให้ประเทศไทย เคยถูกทางการไต้หวันตรวจสอบมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรอให้ทางการไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวบรวมข้อมูลหลักฐานสำคัญให้พร้อม ก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอไปประสานข้อมูลกลับมาสอบสวนต่อ
6.สธ.ขอครม.บรรจุ 'หมอ-หมอฟัน-เภสัชฯ' เพิ่มแก้ปัญหาขาดแคลน
ในการประชุม ครม. วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติจัดสรรตำแหน่งเพิ่มใหม่ เพื่อบรรจุบุคคลตามคำขอของ สธ.เพื่อบรรจุทุนรัฐบาล 3 สายงาน คือ แพทย์ ทันตแพทย์และเภสัชกร จำนวน 2,666 อัตรา เป็นการเร่งด่วน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.คณะที่ 1 เห็นควรให้ สธ.นำตำแหน่งว่างของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จำนวน 521 อัตรา ไปบรรจุนักเรียนทุนดังกล่าวที่สำเร็จการศึกษาในปี 2555 ก่อน ส่วนที่เหลือให้จัดสรรตำแหน่งเพิ่มใหม่ 2,145 อัตรา เนื่องจากเป็นสายงานหลักที่ขาดแคลนอย่างรุนแรง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หากไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการ จะสูญเสียออกจากระบบได้ง่าย
7.สธ.เร่งให้ความเข้าใจคนอีสานหวังลดมะเร็งตับ
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการประชาร่วมใจ สร้างสุขอนามัยห่างไกลมะเร็งท่อน้ำดีในตับร้าย เทิดไท้องค์ราชัน-มหาราชินี-พระบรมฯ โดยการค้นหาผู้ป่วยมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้น มารับการผ่าตัดรักษาฟรี เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 80 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ60 พรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2555 – 31 กรกฎาคม 2556 รวมจำนวน 224 ราย ผ่าตัดในโรงพยาบาล 15 แห่ง ประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 แห่ง ได้แก่ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สกลนคร รพ.ร้อยเอ็ด และรพ.สุรินทร์ ภาคกลาง 5 แห่ง ได้แก่ รพ.ราชวิถี รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช และรพ.จุฬาภรณ์ กทม. ภาคเหนือที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และภาคใต้ที่รพ.หาดใหญ่ ซึ่งการรักษาตั้งแต่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลาม จะหายขาด มีโอกาสรอดชีวิตสูง
ทั้งนี้ โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดในปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 58,076 ราย อันดับ 1 คือมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี 14,008 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 54 หรือ 7,513 รายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยไทยมีอัตราตายจากมะเร็งตับสูงที่สุดในโลก ในผู้ชายพบสูงถึง 36.9 คนต่อประชากร 100,000 คน ส่วนผู้หญิง 15.2 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยจังหวัดสกลนครมีอัตราตายจากมะเร็งชนิดนี้สูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบ 55 คนต่อประชากร 100,000 คน สำหรับการป่วยจากมะเร็งตับพบว่ามีชายไทยป่วย 1 คนทุก 1 ชั่วโมง ส่วนผู้หญิงป่วย 1 คนทุก 3 ชั่วโมง เฉลี่ยพบผู้ป่วยวันละกว่า 30 คนทั่วประเทศ
8.พนง.เทศบาลร้องป่วยมะเร็ง-งบรักษาหมด รพ.งดจ่ายยา
ปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการจากการถ่ายโอนไปอยู่ท้องถิ่น มีหลายกรณีเพียงแต่อาจจะไม่เป็นข่าว แต่ในกรณีของ นายทองสุข สุวรรณประภา อายุ 40 ปี พนักงานสูบน้ำ สังกัดกองช่าง ของสำนักงานเทศบาลตำบล(ทต.) เวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา ที่เข้าร้องทุกข์ต่อนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาว่า นางนุศรา สุวรรณประภา อายุ 30 ปี ภรรยาที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ตั้งแต่เดือนก.ย. 2554 ต้องฉีดยาเข็มละ 98,000 บาท ทุกๆ 21 วัน และในวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมาถึงรอบที่ภรรยาต้องไปฉีดยา แต่ส่วนการเงินของโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่แจ้งว่าไม่สามารถจ่ายยาให้ได้ เนื่องจากต้นสังกัดคือ ทต.เวียงลอ ค้างชำระค่ารักษาพยาบาลจำนวน 709,468 บาท
ทั้งนี้ปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากข้าราชการที่ถ่ายโอนมาอยู่ส่วนท้องถิ่นจะใช้สวัสดิการของท้องถิ่น ซึ่งไม่สะดวกเหมือนใช้สิทธิข้าราชการ หากเป็นการรักษาที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงจะมีปัญหาในการเบิกจ่าย
9.นักวิชาการชี้ “ทันตแพทย์:สิงคโปร์ - พยาบาล : ฟิลิปินส์” แห่เข้าไทย หลังเปิดเสรีอาเซียน
วันที่ 8 พฤษภาคม ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลวิเคราะห์ “ศักยภาพการแข่งขันของการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพไทยภายใต้ AEC” ว่า จากการเก็บข้อมูล โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (focus group) เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ ความพร้อมของนักวิชาชีพ ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และการร่วมจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (Multual Recognition Arrangement: MRA) ซึ่งได้ทำข้อตกลงยอมรับร่วมไปแล้วใน 7 สาขา ประกอบด้วย สาขาวิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ บัญชี โดยการเก็บข้อมูลครั้งนี้ เลือกศึกษาเพียง 6 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ ทันตแพทย์ แพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ภายหลังการเปิดอาเซียนคือ กลุ่มทันตแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะมีทันตแพทย์จากประเทศในแถบยุโรป ที่ได้โอนสัญชาติเป็นสิงคโปร์ ขอใช้สิทธิ์เข้ามาประกอบวิชาชีพในประเทศไทย และจะมีพยาบาลจากฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น และคาดว่า ภายหลังการเปิดเสรี จะมีจำนวนผู้มาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยมากขึ้น
- 28 views