เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 เมษายน 2554 หน้าA6
เรื่องนี้เป็นเรื่องของ "กิตติ"(นามสมมติ) ชายโชคร้ายที่ถูกแพทย์จากโรงพยาบาลประกันสังคมแห่งหนึ่งวินิจฉัยว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารและบิดต้องทนกับอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนต้องเข้าห้องไอซียู แต่ผลเอกซเรย์ช่องท้องส่วนล่างกลับพบว่า เขาป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้
เมื่อหมดศรัทธากับโรงพยาบาลประกันสังคมเขาและครอบครัวจึงต้องการย้ายไปรักษากับหน่วยบริการที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง แต่ถูกปฏิเสธการส่งตัวจึงต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ารักษาเอง
"ปรีดา"(นามสมมติ) ภรรยาของกิตติ เล่าว่าช่วงต้นเดือน มี.ค. 2553 สามีมีอาการท้องผูกและท้องเสียสลับกันเป็นระยะ จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตสวนหลวงซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนใช้สิทธิประกันสังคมไว้
เบื้องต้นอายุรแพทย์คนแรกให้ยาฆ่าเชื้อ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จึงได้ส่งให้ไปรักษาต่อกับแพทย์คนที่ 2 ซึ่งแพทย์คนนี้วินิจฉัยว่าสามีเป็นริดสีดวงทวารเนื่องจากมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด
การรักษาจึงเปลี่ยนมาเป็นการให้ยาเหน็บทวารกระนั้นรักษาไประยะหนึ่งอาการก็ยังไม่ดีขึ้น คนไข้จึงไปพบแพทย์อีกครั้ง ครั้งนี้มีการนำตัวอย่างอุจจาระไปทำการวิเคราะห์ สุดท้ายแพทย์คนที่ 2 ก็วินิจฉัยว่าสามีของเธอเป็นโรคบิดและรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้ออีกครั้ง
เวลาผ่านไปอีกหลายสัปดาห์จนสามีรับประทานยาที่แพทย์ให้จนหมด อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์คนที่ 2 จึงส่งต่อให้แพทย์คนที่ 3 ตรวจวินิจฉัยด้วยการส่องกล้อง
"ทานยาจนหมดอาการก็ไม่ดีขึ้น หมอก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากรอดูอาการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสามีของดิฉันทนไม่ไหวจึงได้พบหมออีกครั้ง เขาจึงส่งต่อให้กับหมออีกคนเพื่อส่องกล้อง ใช้เวลารักษาไปร่วมเดือนแล้ว" ปรีดา กล่าวเมื่อถึงเช้าวันนัดสามีของเธอจึงเดินทางไปโรงพยาบาลคนเดียว โดยพยาบาลเริ่มให้ยาถ่ายเพื่อเป็นการล้างลำไส้เตรียมสำหรับการส่องกล้อง ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. ปรีดากลับได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าสามีมีอาการตัวร้อน หนาวสั่น ถ่ายไม่หยุดจนต้องให้น้ำเกลือ
"พอมาถึงโรงพยาบาลสามีของดิฉันก็อยู่ในห้องไอซียูแล้ว เพราะมีสภาพถ่ายไม่หยุด หน้าซีด เดินไม่ไหว ตัวร้อน ดิ้นทุรนทุราย ร้องบอกว่าเหมือนโดนยาทิงเจอร์ราดในท้อง ปวดแสบมาก" ปรีดา กล่าวเมื่อให้ยาแก้ปวดไปแล้ว อาการของสามีเริ่มดีขึ้นและถูกเคลื่อนย้ายไปยังห้องนอนสำหรับผู้ใช้สิทธิประกันสังคม นั่นคือห้องนอนรวมขนาด 4 เตียง โดยมีอาหารมื้อแรกเป็นข้าวสวยพร้อมติดป้ายว่าอาหารประกันสังคม
กิตติต้องนอนให้น้ำเกลือนาน 10 วัน แพทย์จึงตัดสินใจทำ Lower CT Scan หรือเอกซเรย์ช่องท้องส่วนล่างและตรวจพบก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งก็คือก้อนเนื้อมะเร็งนั่นเอง และต้องส่งตัวให้แก่แพทย์คนที่ 4 ทำการรักษาต่อไป โดยนัดผ่าตัดในอีก3 วันหลังจากทราบผล
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ปรีดาและครอบครัวหมดความเชื่อถือในโรงพยาบาลแห่งนี้และไม่กล้าเอาชีวิตสามีมาเสี่ยงอีกต่อไป จึงตัดสินใจจะให้ไปผ่าตัดกับโรงพยาบาลอื่นที่น่าเชื่อถือกว่า โดยระหว่างที่กำลังหาโรงพยาบาลใหม่ก็ทำเรื่องขอเวชระเบียนสำหรับให้แพทย์จากโรงพยาบาลแห่งใหม่เอาไปประกอบการวินิจฉัย
"โรงพยาบาลเดิมไม่ค่อยเต็มใจในการทำเอกสารให้และยังคิดค่าธรรมเนียมการออกเวชระเบียนอีก ส่วนเจ้าหน้าที่ประกันสังคมประจำโรงพยาบาลนี้ก็อ้างว่า ให้เวชระเบียนไม่ได้จนกว่าจะเซ็นจดหมายฉบับหนึ่งเสียก่อน ในใจความของหนังสือฉบับนั้นมีความสื่อว่า ถ้านำสามีไปรักษาที่อื่นแล้วจะยินยอมไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายจากโรงพยาบาล เราก็ไม่ยอมเซ็นเพราะถือว่าจ่ายค่าทำเวชระเบียนไปแล้ว มีใบเสร็จรับเงินเรียบร้อยแล้วจะไม่ออกให้ได้อย่างไร จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ยอมออกสำเนาเวชระเบียนให้" ปรีดา เล่าหลังจากได้สำเนาเวชระเบียน ปรีดาจึงนำเอกสารดังกล่าวไปให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางของโรงพยาบาลชื่อดังอีกแห่งหนึ่งอ่าน ซึ่งแพทย์คนนี้ลงความเห็นมาว่า ยังขาดผล Upper CT Scan หรือเอกซเรย์ช่องท้องส่วนบน จึงควรทำเอกซเรย์เสียก่อน
เพื่อที่จะได้สามารถวางแผนในการผ่าตัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพราะการผ่าตัดนี้ต้องเป็นการผ่าตัดใหญ่จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือของแพทย์เฉพาะทางหลายแผนก
ต่างจากความคิดเห็นของแพทย์จากโรงพยาบาลประกันสังคมที่ให้ผ่าตัดภายใน 3 วันหลังจากได้ผลเอกซเรย์ช่องท้องส่วนล่างเท่านั้น
"เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของสามีดิฉัน ดิฉันแน่ใจแล้วว่าจะไม่นำสามีไปทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลประกันสังคมอย่างแน่นอน ศัลยแพทย์ของโรงพยาบาล
ที่เตรียมตัวผ่าตัดต่อว่าดิฉันจนทนไม่ไหวต้องร้องไห้หมอก็ยังไม่พอใจ บอกว่าร้องไห้ไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ต้องนำสามีมาผ่าตัดตามนัด" ปรีดา กล่าวหลังจากนั้นเธอต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อขอให้ทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยอีกหลายครั้ง ทุกครั้งโรงพยาบาลปฏิเสธ โดยอ้างว่าการส่งตัวทำให้ทางโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และทางโรงพยาบาลมีศักยภาพมากพอที่จะทำการผ่าตัด ระหว่างนั้น ปรีดาได้ติดต่อเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคมให้ช่วยเหลือด้วย แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันเช่นกันว่าต้องผ่าตัดกับทางโรงพยาบาลประกันสังคม มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาได้
ปรีดา ย้ำว่า เธอไม่กล้าเอาชีวิตสามีมาเสี่ยงกับโรงพยาบาลแห่งนี้อีกแล้ว ในที่สุดจึงตัดสินใจพาสามีไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลทหารชื่อดังแห่งหนึ่งแทน โดยได้แพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญเรื่องของลำไส้และทวารหนักเป็นผู้รักษา
การผ่าตัดใช้เวลาทั้งหมด 7 ชั่วโมง ต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ทิ้ง รวมถึงลำไส้เล็กอีกจำนวนหนึ่ง แต่กระนั้นยังเหลือมะเร็งบนต่อมน้ำเหลืองอีก 20 กว่าจุดที่ไม่สามารถเลาะออกมาได้ เนื่องจากอยู่ติดกับเส้นเลือดใหญ่ หากทำการเลาะออกมาอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ และยังมีชิ้นส่วนมะเร็งบนตับที่เลาะออกไม่ได้เช่นกัน ต้องทำการรักษาด้วยเคมีบำบัดต่อไป
ปรีดา กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งนี้เป็นเงินรวมกว่า 8 หมื่นบาท เป็นเงินที่ต้องกู้หนี้มาจ่ายค่ารักษาแต่เนื่องจากต้องทำเคมีบำบัดต่อซึ่งต้องใช้เงินอีกเป็นหลักล้าน เธอจึงได้กลับเข้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ประกันสังคมอีกครั้ง
"หายไปตั้งนาน ไปเสียเงินเสียทองมาแล้วจะให้ช่วยอย่างไร" นั่นคือคำตอบที่ได้รับผ่านสายโทรศัพท์กลับมา...
เธอย้ำว่า ได้รับความทุกข์ยากเป็นอย่างมากที่สามีเป็นโรคร้าย ค่าใช้จ่ายสูงมากจนไม่มีเงินรักษา หลังจากผ่าตัดใหญ่แล้วเธอยังต้องจ่ายเงินค่าเคมีบำบัดอีกกว่า 6 หมื่นบาทเข้าไปแล้ว
...กรณีดังกล่าวแม้ไม่มีใครชี้ถูกผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของโรงพยาบาลประกันสังคม แต่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ประกันตนไม่มีความเชื่อมั่นต่อ
มาตรฐานการรักษาจนต้องดิ้นรนจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองนับแสนบาท ทั้งๆ ที่ฐานะก็ไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ถ้าจ่ายเงินสมทบทุกเดือนแล้วไม่มีอะไรดี เหตุใดผู้ประกันตนจึงต้องทนจ่ายต่อไปอีก!?!
คลอดก่อนกำหนด ทารกเข้าไอซียูกู้หนี้นอกระบบจ่ายค่ารักษาเอง 5 หมื่น
"พิศมัย"(นามสมมติ) อายุ 31 ปี ชาว จ.พิษณุโลก ใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งโชคร้ายที่ตั้งครรภ์ได้เพียง 31 สัปดาห์ เธอก็ต้องคลอดก่อนกำหนด ทำให้ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักแรกคลอดเพียง1,460 กรัม แพทย์จึงให้ทารกนอนอยู่ในตู้อบอยู่ที่ห้องไอซียูสำหรับเด็ก
แม้จะได้รับเงินเหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรครั้งละ 1.3 หมื่นบาท แต่หากทารกเกิดเจ็บป่วยหลังจากคลอด ระบบประกันสังคมจะไม่ครอบคลุม เพราะถือว่าเป็นคนละคนกันและไม่อยู่ในเงื่อนไขการได้รับสิทธิ มารดาจะต้องรีบไปลงทะเบียนบุตรเพื่อให้รับสิทธิรักษาพยาบาลกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับหน่วยบริการต้นสังกัด
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อโรงพยาบาลที่มารดาไปคลอดบุตรอยู่ในระบบประกันสังคม แต่ไม่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้เกิดความยุ่งยากในการดูแลทารกหลังคลอด เพราะโรงพยาบาลต้นสังกัดของทารกในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต้องนำทารกไปดูแลแทน ทำให้มารดาและบุตรจะต้องแยกรับการรักษาคนละโรงพยาบาล
"หมออนุญาตให้นำเด็กส่งต่อไปรักษาที่อื่นได้ แต่เมื่อประสานไปยังโรงพยาบาลเด็กเตียงกลับเต็ม ในที่สุดก็ตัดสินใจกัดฟันรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเดิมต่อ โดยลูกต้องรักษาอยู่นานถึง 2 สัปดาห์ เสียค่าใช้จ่ายรวมเกือบ 5 หมื่นบาท ทางบ้านไม่มีเงินอยู่แล้วก็ต้องกู้นอกระบบดอกเบี้ย 10% จนถึงทุกวันนี้แม้น้องจะร่างกายสมบูรณ์กลับมาเป็นปกติ แต่ก็ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย" พิศมัย กล่าว
เธอตั้งข้อสังเกตว่า หากสำนักงานประกันสังคมจะขยายสิทธิให้ครอบคลุมบุตรของผู้ประกันตนก็น่าจะช่วยให้เบี้ยประกันที่จ่ายในแต่ละเดือนมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
กรณีดังกล่าว แม้พิศมัยจะได้เงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตรครั้งละ 1.3 หมื่นบาท ก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่ไม่ครอบคลุมอยู่ดีเพราะเหมาจ่ายเฉพาะค่าคลอดบุตร แต่ก่อนที่คลอดต้องมีการฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ การดูแลสุขภาพทารกในครรภ์ ซึ่งจุดนี้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเอง
ในรายที่การตั้งครรภ์ไม่มีปัญหาก็นับว่าโชคดีไป แต่หากเกิดปัญหาเช่นเดียวกับพิศมัย ค่าใช้จ่ายจะสูงมากเพราะประกันสังคมไม่ดูแลครอบคลุม...เธอต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อขอให้ทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยอีกหลายครั้ง ทุกครั้งโรงพยาบาลปฏิเสธ โดยอ้างว่าการส่งตัวทำให้ทางโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และทางโรงพยาบาลมีศักยภาพมากพอที่จะทำการผ่าตัด ระหว่างนั้น ปรีดาได้ติดต่อเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคมให้ช่วยเหลือด้วย แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันเช่นกันว่าต้องผ่าตัดกับทางโรงพยาบาลประกันสังคม มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาได้
- 1047 views