เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 เมษายน 2554 หน้าA6
"คุณหมอช่วยส่งตัวหนูเถอะ หนูไม่ไหวแล้ว หนูยังมีลูกเพิ่ง 8 เดือนที่ต้องดูแล"คำพูดของสมศรี (นามสมมติ) ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม วัย 28 ปี ผู้ป่วยไอซียูเล่าขณะยกมืออ้อนวอนหมอ แม้เรี่ยวแรงแทบจะไม่มี เพื่อขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมานานนับปี แต่อาการมีแต่จะทรุดลงเรื่อยๆ กระทั่งต้องเข้าห้องไอซียู
ขณะนั้นน้ำเสียงของสมศรีแผ่วเบา สติเริ่มไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จนบรรดาญาติพี่น้องแห่มาคอยดูใจเพราะอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้พูดคุยกันอีก
ระหว่างเข้าไอซียูผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้เรียกประชุมทีมแพทย์ผู้ให้การรักษา และในที่สุดยอมส่งเธอไปยังโรงพยาบาลศิริราชในบ่ายวันนั้น...เป็นการตัดสินใจหลังจากเธอต้องนอนทุกข์ทรมานกว่า 3 วัน จนแทบปางตาย...
"สมศรี"เป็นสาวโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป เริ่มป่วยออดๆ แอดๆ มาตั้งแต่ปี 2550 แรกเริ่มอยู่ๆ ก็มีผื่นคันขึ้นทั้งตัว เหมือนเป็นลมพิษ จึงใช้สิทธิประกันสังคมเข้ารักษาตัวกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคกลางใกล้กรุงเทพฯ
เธอป่วยในอาการเดิมต่อเนื่อง เข้าๆ ออกๆโรงพยาบาล กระทั่งตั้งครรภ์ แพทย์จึงวินิจฉัยว่าอาจเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษและหลังคลอดลูกแล้วอาการคันจะหายไปเอง แต่อาการกลับตรงกันข้าม ระหว่างอุ้มท้อง ผื่นและอาการคันค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น จนหมอต้องจ่ายยาแก้แพ้ แก้ผื่นคัน และยากดภูมิต้านทานเพื่อทุเลาอาการ ผ่านไป 2 เดือน ไม่มีอะไรดีขึ้น อาการยิ่งรุนแรงมากขึ้น แพทย์จึงเจาะเลือดไปตรวจหาสาเหตุอยู่หลายครั้ง และก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคทาลัสซีเมีย
"ดิฉันรู้สึกแปลกใจเพราะในช่วงตั้งท้องใหม่ๆ เคยเจาะเลือดตรวจโรคทาลัสซีเมียแล้วก็ไม่พบเชื้อ แต่เริ่มมีอาการปวดตามข้อต่างๆ เพิ่มขึ้น ต่อมาหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรครูมาตอยด์อีก ยิ่งวินิจฉัยก็ยิ่งพบโรคใหม่ๆตลอด" สมศรี เล่า
สาวโรงงานรายนี้มีอาการคันทุรนทุรายมากขึ้นคันชนิดที่เรียกว่าเข้าไปถึงในเนื้อ เกาก็ไม่หาย บางครั้งถึงขั้นนั่งร้องไห้ "ผื่นขึ้นจนเป็นปื้นทั่วตัว ใบหน้าบวมจนตาตี่ แถมปวดแขนปวดขาสลับกับไข้ขึ้นสูง บางครั้งสูงถึง 40 องศา ต้องหยุดงานสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อนที่ทำงานบางคนก็รังเกียจกลัวติดโรค ดิฉันก็กลุ้มใจมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ จึงจะขอย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น และขอให้หมอช่วยทำเรื่องส่งต่อ"
"เพราะเป็นลูกจ้างมีเงินเดือนจำกัดจำเขี่ย จึงไม่อยากจ่ายค่ารักษาเอง หมอก็บอกว่าอาการที่เป็นอยู่ยังไม่เกินความสามารถที่จะรักษา ทั้งที่กินทั้งยาแก้แพ้ แก้ผื่นคัน ยาฉีด ยากดภูมิต้านทานมาเป็นปี อาการต่างๆก็ไม่ดีขึ้น"
ทุกครั้งที่สมศรีไปพบแพทย์ก็พยายามขอให้ช่วยส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นเสมอ รำคาญเข้าก็ไล่เธอไปคุยกับเจ้าหน้าที่ประกันสังคมของโรงพยาบาล แต่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่า เป็นโรคที่ยังไม่ถึงขั้นต้องส่งตัว ความพยายามของเธอจึงวนอยู่กับคำปฏิเสธของหมอและเจ้าหน้าที่
สมศรีตัดสินใจจะไปรักษาตัวที่สถาบันโรคผิวหนังเพราะทนทรมานไม่ไหวแล้ว แม้ต้องควักเงินจ่ายเองจึงขอเวชระเบียนจากเจ้าหน้าที่ พอได้มา แต่ยังไม่ทันจะไป อาการก็ทรุดหนัก ความดันตก ไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศา แถมหายใจไม่ออก
นั่นเป็นเหตุผลที่สมศรีต้องนอนทรมานต่อในโรงพยาบาลประกันสังคมตามสิทธิอยู่ 3 วันสุดท้ายก่อนแพทย์จะยอมส่งตัวไปรักษาที่ศิริราช
"พอเข้าวันที่ 3 นอกจากอาการคันแล้ว ยังปวดปลายมือและปลายเท้าอย่างรุนแรง ข้อมือและข้อเท้าเริ่มมีสีคล้ำบวมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนพยาบาลต้องให้มอร์ฟีนเพื่อลดอาการปวด วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ไม่มีหมอมาดูมีแต่หมอเวรด้านล่างมาดูอาการเราไม่ได้เพราะมีผู้ป่วยมาก เจ้าหน้าที่ต้องเข็นเตียงพาลงไปหาหมอแทน กว่าจะได้พบหมอหนูก็พูดไม่รู้เรื่องแล้ว"สมศรี เล่า
หมอก็วินิจฉัยว่าเธอติดเชื้อในกระแสเลือดจึงรีบส่งตัวเข้ารักษาไอซียูด่วน ระหว่างที่พอจะพูดได้บ้างก็อ้อนวอนให้หมอส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช "แค่พยาบาลถามชื่อเสร็จดิฉันก็หมดสติไปถึง 3 วันเต็มๆฟื้นมาอีกทีที่ศิริราชเห็นสภาพขาตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงหน้าแข้งบวมใหญ่ไม่ต่างจากขาช้าง แถมเขียวคล้ำจนดูน่ากลัว ผิวหนังเน่าเฟะ หมอบอกว่าเป็นผลมาจากเซลล์เนื้อเยื่อที่ตาย เพราะเส้นเลือดอุดตันไม่มีเลือดไปเลี้ยงขา"
สมศรีมาทราบผลวินิจฉัยอย่างละเอียดในภายหลังจากหมอศิริราชว่า ไม่พบโรคทาลัสซีเมียและรูมาตอยด์ตามเวชระเบียนโรงพยาบาลเดิม หมอศิริราชบอกเธอว่าสาเหตุของอาการป่วยรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้มาจากภาวะแพ้ยากดภูมิต้านทานที่กินต่อเนื่องมาเป็นปี ซึ่งยาเหล่านี้จะกดภูมิไม่ให้เป็นผื่นคัน แต่ผลข้างเคียงคือยาจะไปทำลายภูมิคุ้มกันจนเกิดอาการรุนแรงอย่างที่เป็น
การรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชทั้งห้องผู้ป่วยทั่วไป20 วัน และห้องไอซียูอีก 10 วัน ตามหลักการโรงพยาบาลประกันสังคมต้นสังกัดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ในระหว่างการรักษาตัวสมศรีต้องหยุดงานและออกจากศิริราชแล้วต้องพักฟื้นอีก 8-9 เดือน
เป็นเหตุให้สมศรีได้ค่าชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมเพียง 1.5 เดือน ทางบริษัทจ่ายให้อีก 1.5 เดือนเท่านั้น "ระหว่างที่ดิฉันป่วยต้องใช้อย่างประหยัดสามีก็ตกงาน ลูกที่อายุขวบกว่าๆ ก็ต้องฝากเขาเลี้ยงและที่ซ้ำเติมดิฉันมากที่สุด สามีก็ทิ้งไป"
ความรันทดไม่ยอมหันหลังให้สมศรี ถัดมาไม่นานเธอมีอาการป่วยอีก แต่รู้สึกเข็ดหลาบโรงพยาบาลเดิม(สิทธิประกันสังคม) จึงเลือกไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดแทน หมอวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคภาวะหัวใจขาดเลือด ต้องนอนรักษาตัวต่อเนื่อง สุดท้ายจ่ายค่ารักษาไป 2 หมื่นบาท
"ไปเบิกประกันสังคมก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่โรงพยาบาลที่สังกัด ต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายถูกคิดดอกเบี้ยถึง 20%ต่อเดือน แต่ละเดือนมีปัญญาจ่ายแค่ดอกเบี้ย 4,000 บาท ตอนนี้ดอกทบต้นแล้ว ตอนนั้นหมอก็แนะนำให้กลับไปรักษาที่โรงพยาบาลประกันสังคมจะได้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย"
ในที่สุดสมศรีจำใจต้องกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิม เธอถูกมองด้วยแววตาแปลกๆ แถมยังถูกพยาบาลบางคนแดกดันว่าการย้ายไปรักษาที่ศิริราชทำให้โรงพยาบาลต้องจ่ายเงินให้ 3-4 แสนบาท ค่ารถฉุกเฉินอีก 5,000 บาท
"ฟังดูก็เหมือนเป็นบุญคุณ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิในระบบประกันสังคมที่โรงพยาบาลต้องส่งต่อและต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว บริษัทและตัวเราก็จ่ายเงินสมทบมาตลอด"
ช่วงการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเดิมหนนี้ถือเป็นความโชคดีของสมศรี เพราะหมอโรคหัวใจดูแลเธออย่างดีและก็ได้มาทราบความจริงอีกว่า "ภาวะหัวใจขาดเลือดเป็นกรรมพันธุ์ ไม่ได้เป็นผลจากการกินยาแก้ปวดหัว เหมือนที่โรงพยาบาลเดิมบอกในวันแรกที่ไปหาหมอรอบสอง"
วันที่สมศรีหายป่วยจนออกจากโรงพยาบาลศิริราชอาการผื่นคันหายสนิท แต่ด้วยเซลล์บริเวณเนื้อขาตายทำให้ผิวหนังหนาและขาผิดรูปไปจากเดิม สวมได้แต่รองเท้ารัดส้น เพราะเท้าไม่มีความรู้สึกอีก
ช่วง 2-3 ปีมานี้ เธอได้แต่ปลงกับชีวิต แต่ลึกๆ ก็คิดอยู่เสมอว่า หากโรงพยาบาลยอมส่งต่อตั้งแต่แรกสภาพร่างกายเธอคงไม่เป็นเช่นปัจจุบัน สามีที่รักและคอยเป็นกำลังใจเสมอมาก็คงไม่หนีไป
สมศรีแลกความตายกับการสูญเสียหลายอย่างมาได้ทั้งที่ไม่ได้เป็นความผิดตัวเอง เพียงเพราะการรักษาที่ต่ำมาตรฐาน ทำให้ผู้ใช้สิทธิที่ไม่ได้เลือกอย่างเธอต้องรับกรรม!!!
- 64 views