วันนี้ ( 30 พ.ค.) ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ศ.นพ.ประมุข มุทิรางกูร หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ พร้อมคณะแพทย์สาขาวิชาศัลยศาสตร์ ศิริราช พยาบาล แถลงถึงความสำเร็จ ในการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าให้แก่ นางอรุณี เตมีพัฒนพงษา ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันการถูกตัดขาสำเร็จเป็นรายแรกของโรค
ศ.นพ.ศุภกร กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคทางระบบประสาท หลอดเลือด โดยเฉพาะเท้า ซึ่งเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานอย่างหนัก แต่มักถูกมองข้าม และไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร แผลขาดเลือดที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยถูกตัดขา ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานอาจสูญเสียประสาทรับความรู้สึก กล้ามเนื้อเท้าอ่อนแรง และผิดรูป มีอาการชาที่เท้าและติดเชื้อลุกลามจนเนื้อเน่าตาย ซึ่งถ้าหากรุนแรงอาจถึงขั้นต้องถูกตัดเท้าหรือขาทิ้งเช่นกัน ด้วยภาวะนี้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องสูญเสียเท้าอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ศ.นพ.ศุภกร กล่าวต่อว่า สาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงคิดค้นนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ป้องกันการถูกตัดขาขึ้น จนประสบความสำเร็จเป็นคารั้งแรกในโลก ซึ่งเดิมแพทย์จะใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือดแดงหรือบายพาส รวมถึงการขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูนหรือใส่ขดลวดค้ำยัน ซึ่งหากหลอดเลือดแดงที่อยู่ส่วนปลายท่อเกิดอุดตัน การรักษาทั้ง 2 วิธีดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จ และผู้ป่วยโรคเบาหวานจะสูญเสียขาในที่สุด
ดังนั้นคณะศัลยแพทย์จึงได้คิดค้นวิจัยการรักษาดังกล่าวขึ้นในโดยการรักษาเริ่มจากการประเมินสภาพผู้ป่วย ซึ่งต้องมีสภาพหัวใจและปอดแข็งแรง มีสภาพหลอดเลือดดำบริเวณข้อเท้าที่เหมาะสม สำหรับการผ่าตัดวิธีใหม่นี้ จะมีหลักการโดยใช้หลอดเลือดดำบริเวณข้อเท้าเป็นทางนำเลือดแดงจากหลอดเลือดแดงบริเวณต้นขาเข้าไปในระบบหลอดเลือดดำของเท้าโดยตรง ช่วยให้ปริมาณอาหารและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเท้าได้อย่างเพียงพอ จนแผลเบาหวานหายเป็นปกติ ผู้ป่วยกลับมาเดินได้อีกครั้ง ใช้เวลาผ่าตัด 4 ชั่วโมง และพักฟื้นต่ออีกประมาณ 4-6 สัปดาห์ สามารถแก้ไขภาวะการอุดตันของหลอดเลือดแดงบริเวณขาอย่างรุนแรงจากการพอกของแผ่นไขมันและเกลือแคลเซียม หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ภาวะไขมันในเลือดสูง และรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด และห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้โอกาสการตีบซ้ำของหลอดเลือดแดงสูง ผู้ประสงค์ที่จะรักษาด้วยวิธีนี้ สามารถติดต่อที่หน่วยตรวจโรคศัลยศาสตร์ ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 3 รพ.ศิริราช หรือสอบถามที่ www.sirirajonline.net
สำหรับการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวได้มีการเสนอผลงานต่อที่ประชุมวิชาการแพทย์ศัลยศาสตร์ ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี52 ถึงปัจจุบัน และได้รับการยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการแพทย์จนได้รับการตีพิมพ์ใน“Vascular” ซึ่งเป็นวารสารทางการของสมาคมศัลยแพทย์หลอดเลือดนานาชาติ ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดของการรักษา ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลขาดเลือดขั้นรุนแรง ในอนาคตอันใกล้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะถ่ายทอดองค์ความรู้ในการรักษานี้ให้แพร่หลาย โดยเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ศัลยแพทย์ทั่วประเทศให้เกิดความชำนาญในการรักษาเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยต่อไป
ที่มา: http://www.dailynews.co.th
- 87 views