“วิกฤติสุขภาพจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” : สถานการณ์กลับเข้าสู่ยุคก่อนมียาปฏิชีวนะหวั่นความสูญเสียมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและถาวร หากไม่แก้ปัญหาทั้งระบบอย่างทันการณ์ นักวิชาการจี้เร่งใช้ืมาตรการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาที่อยู่บนฐานของความรู้และวิชาการอย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียจากเชื้อดื้อยา
ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า “โรคติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญทั่วโลกเพราะเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีอันตรายร้ายแรงเนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิด ไม่มียารักษา และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต สถานการณ์กลับรุนเเรงเหมือนยุค 80 ปีก่อนมียาปฏิชีวนะ ทั้งนี้แต่ละปีคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่า 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน เสียชีวิตกว่า 30,000 คน และประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าหมื่นล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อในประเทศไทยดื้อยาอย่างรวดเร็วคือมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินจำเป็นอย่างกว้างขวาง ทั้งการใช้ยาโดยประชาชนในชุมชนและการใช้ยาในสถานพยาบาล แต่ละปีคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าครึ่งเป็นการใช้ยามากเกินความจำเป็น ทำให้เชื้อโรคจำนวนมากในประเทศไทยดื้อยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า “เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพเชิงระบบที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับบุคคลและหน่วยงานจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้ปัญหาเชื้อดื้อยาและการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นนโยบายระดับชาติที่สำคัญและเร่งด่วน ดังนั้น สวรส. จึงประสานงานการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยคณะกรรมการและคณะทำงานได้ดำเนินการมาแล้วหลายเดือนจนได้แผนงานที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนแล้ว สวรส. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายภาคีวิชาการจัดสัมมนาระดับชาติ “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ : ภาวะวิกฤตต่อสุขภาพคนไทย” ขึ้นในระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม นี้ เพื่อให้นักวิชาการ หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมกันระดมความคิดเกี่ยวกับระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับประเทศไทย สวรส. จะนำผลจากการสัมมนานี้ไปใช้ขับเคลื่อนการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาต่อไปอย่างมีพลังโดยเร็ว”
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยและพัฒนาระบบยา สวรส. กล่าวว่า “การสัมมนานี้ ได้ระบบและแผนการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน และครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาและการใช้ยา การควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ การส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความตระหนักแก่สังคมเรื่องเชื้อดื้อยาและรณรงค์ให้งดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม ทั้งในมนุษย์และสัตว์ มาตรการสำคัญสูงสุดในการควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยา คือ 1) สถานพยาบาลทุกแห่งมีมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด 2) สถานพยาบาลเข้มงวดในการตรวจสอบและอนุมัติการใช้ยาปฏิชีวนะ 3) บุคลากรสาธารณสุขให้บริการผู้ป่วยตามแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล 4) สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะให้กับประชาชน 5) จำกัดการจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านยา และ 6) งดใช้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร
ทั้งหมดนี้ต้องการการลงทุน ทั้งทุนปัญญา ทุนทางสังคม และทุนเงินที่เพียงพอในการแก้ปัญหา โดยความร่วมมือจาก กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ สปสช. สสส. สวรส. สช. และองค์กรภาคเอกชน ตลอดจนสภาและสมาคมวิชาชีพด้านสาธารณสุขทั้งหมด
- 3 views