1.เลขาธิการ สปสช. คนใหม่ พร้อมดัน 7 ยุทธศาสตร์ เตรียมเข้าสู่เขตเศรษฐกิจอาเซียน
หลังจากเข้ารับตำแหน่ง เลขาธิการ สปสช.ต่อเป็นวาระที่สอง นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ได้แถลงข่าวเรื่อง “ขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์มุ่งสู่ทศวรรษที่ 2 สร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ว่ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะต่อไป ต้องการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นตาข่ายคุ้มครองด้านสุขภาพของประชาชน ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข การบริหารเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการระดมทรัพยากรจากแหล่งอื่น และการบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพระดับสากล ด้วยวิสัยทัศน์ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” โดยขับเคลื่อนผ่าน 7 ยุทธศาสตร์ และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพองค์กรแห่งการเรียนรู้ จนได้รับรางวัล Thailand Quality Award หรือ TQA ในปี 2559
2.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยก้าวไกลในเวทีโลก
ในช่วงสัปดาห์นี้มีข่าวเศร้าจากประเทศกรีซ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป ที่กำลังประสบกับปัญหาความล่มสลายทางเศรษฐกิจ และต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด รายงานข่าวแจ้งว่า โรงพยาบาล "เฮเลน่า เวนิเซลู" รพ.ผดุงครรภ์แห่งหนึ่งในกรุงเอเธนส์ ขู่จะยึดตัวทารกของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่เข้าโรงพยาบาลและคลอดบุตรไว้ จนกว่าจะจ่ายค่าทำคลอดลูก จำนวนกว่า 1,200 ยูโร ให้กับโรงพยาบาลก่อน เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงวิกฤตสวัสดิการของกรีซ ที่เกิดจากมาตรการรัดเข็มขัดจากปัญหาหนี้สินล้นระบบของประเทศ โดยระบบสวัสดิการฟรีชนิดไม่ฉุกเฉินจะมีให้เฉพาะคนที่มีงานทำ และได้จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมของรัฐ และคนที่ตกงาน แต่ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนเท่านั้น
ในขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลก โดยในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 65 (The Sixty-fifth World Health Assembly : WHA) ระหว่างวันที่ 21–26 พ.ค. 2555 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จัดโดยองค์การอนามัยโลก นั้น นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถ้อยแถลงความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเครื่องมือในการลดปัญหาความเจ็บป่วย รวมทั้งลดปัญหาความยากจนได้ชัดเจน สามารถช่วยประชาชนกว่า 100,000 ครอบครัว ที่ฐานะยากจนให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง เข้าถึงบริการโดยไม่เป็นหนี้จากการรักษาพยาบาล
3.สปสช.แจงอัตราการติดเชื้อล้างไตช่องท้องของไทยดีกว่ามาตรฐานสกล
หลังจากที่มีกระแสข่าวโจมตีนโยบายการล้างไตผ่านทางหน้าช่องท้อง (PD firth) จากกลุ่มแพทย์ รพศ./รพท. และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต บางท่าน เพราะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก และเรียกร้องให้แพทย์สามารถตัดสินใจให้การบำบัดผู้ป่วยได้ตามความเหมาะสม ล่าสุด นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า จากการที่ สปสช.เริ่มบริการล้างไตมาตั้งแต่ปี 2551 จนปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 4 ปี มีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องทั้งหมด 15,000 ราย พบอัตราการเสียชีวิตร่วมทั้งหมด 40% เฉลี่ยปีละ 10% เท่านั้น โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตนั้น มักเกิดในผู้ที่ป่วยไตและมีสภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมมาก ซึ่งธรรมชาติของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาก็ต้องเสียชีวิตภายใน 2-4 เดือนอยู่แล้ว และประเทศไทยทำได้ดีกว่ามาตรฐานระดับโลกกำหนด คือ ช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มโครงการนั้นมีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ย 20 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ขณะที่ผลดำเนินการปี 2554 พบว่า มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 24 เดือนต่อครั้ง จึงถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินการเพราะมาตรฐานทางยุโรป ก็ไม่ต่างกัน
4.พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีวาระคนอีสาน
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาณสุข เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลดป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดทำยุทธศาสตร์ “ลดพยาธิใบไม้ตับ กำจัดมะเร็งท่อน้ำดี” วาระคนอีสานทั้ง 20 จังหวัด โดยได้ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และหน่วยงานจากกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนชาวอีสาน โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้นายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารรสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบจ.อบต. และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ตามยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนครั้งนี้ จะมุ่งที่การไม่กินปลาร้าดิบ โดยใช้สโลแกนรณรงค์ว่า “กินปลาร้าต้ม ส้มตำอร่อย” เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และเลิกกินปลาร้าดิบ ซึ่งในปลาร้าดิบ จะมีสารก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้จะรณรงค์ให้คนอีสานไม่กินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด แบบสุกๆ ดิบๆ เพราะปลาจำพวกนี้ จะมีไข่พยาธิใบไม้ตับอยู่ โดยจะรณรงค์ร่วมกันทั้ง 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และบรรจุการเรื่องโรคมะเร็งทั้ง 2 โรคนี้และการป้องกัน เข้าไปหลักสูตรการเรียนการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 ในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเริ่มต้นที่จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่เทอมการศึกษาใหม่นี้เป็นต้นไป และจะประสานเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 -6 ทั่วประเทศ และในระดับชั้นสูงต่อไป คาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดการป่วย และการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด
5.สธ.เปิดตัวหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้ความรู้การสอนตรวจเต้านมด้วยตนเอง และคัดกรองมะเร็งเต้านมฟรี
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่หรือแมมโมกราฟฟี่ (Mammography) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจริญพระชนมายุ ครบ 5 รอบในวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 นี้ เพื่อลดอัตราป่วยและเสียชีวิตของหญิงไทยจากโรคมะเร็งเต้านมลง โครงการดังกล่าวนี้จะใช้วิธีการระดมทุนจากภาคเอกชน และภาคประชาชน ไม่ใช้งบประมาณภาครัฐโดยจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อโสธร รุ่น “เบญจนวมงคล” ๕๕๕๕๕๕๕๕๕ เพื่อหารายได้และร่วมบริจาคสมทบทุนการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าว
โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ จะเป็นการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 5 หน่วย แต่ละหน่วยจะมีประจำแต่ละภาคครอบคลุมทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศ ลงไปยังชุมชนทั่วประเทศทุกอำเภอ แต่ละหน่วยประกอบด้วยหน่วยประชาสัมพันธ์ หน่วยนิทรรศการให้ความรู้ หน่วยสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หน่วยที่ตรวจเต้านมให้กับประชาชนในรายที่สงสัย และหน่วยเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล ในรายที่สงสัยหรือมีปัจจัยเสี่ยง และด้อยโอกาสรู้ผลทันที หากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะส่งต่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดนั้นๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ
6. โรคเอดส์ยังระบาดหนักในพะเยา
พญ.อารีย์ ตันบรรจง สาธารณสุขจังหวัดพะเยา กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ พ.ศ.2555-2559 จะเน้นการบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เข้าไปในภารกิจของหน่วยงานทุกระดับและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วน และสำนักงานโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เสนอให้ประเทศไทยกำหนดเป้าหมาย Getting to Zero คือ ลดจำนวนผู้ป่วยเอดส์ การตายจากเอดส์ และการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยเอดส์ให้เหลือศูนย์
ก่อนหน้านี้จังหวัดพะเยา มีการสำรวจการมีเพศสัมพันธ์ของประชาชนทั่วไป รวมถึงทหารเกณฑ์กองประจำการ และผู้ต้องขัง เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ พบว่าทหารเกณฑ์กองประจำการ จะนิยมไปใช้บริการหญิงบริการก่อนกลับบ้าน ทั้งที่มีภรรยาและไม่มีภรรยา และพบพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังพบในผู้ต้องขังชายด้วย เนื่องจากมีผู้ต้องขังชายรับถุงยางอนามัยจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขณะนำถุงยางเข้าไปแจกในเรือนจำ โดยหญิงบริการส่วนใหญ่ใช้ถุงยางอนามัยมากกว่าร้อยละ 80 และจะไม่ใช้ถุงยางอนามัยในรายขาประจำ และพบด้วยว่าหญิงบริการที่ติดเชื้อเอดส์ยังคงทำงานขายบริการต่อ โดยให้เหตุผลว่าไม่รู้จะไปทำงานอะไร ดังนั้นต้องหาทางแก้ไขต่อไป ทั้งนี้จังหวัดพะเยามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากเป็นอันดับ 4 รองจากจังหวัดภูเก็ต, จันทบุรี และระยอง
7. ความคืบหน้าการสอบสวนคดียาซูโดฯ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีการสอบสวนอย่างต่อเนื่อง โดยทาง DSI ระบุว่าจะเรียก ผอ.รพ. เภสัชกร และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในสัปดาห์หน้า และกระทรวงสาธารณสุขได้ลงตรวจสอบในคลินิกที่มีการสั่งซื้อยาซูโดฯ ในเชียงใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการจ่ายเช็คที่ออกจากโรงพยาบาล เช็คมีทั้งหมด 3 ธนาคาร เป็นธนาคารที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ทั้งหมด มีการสั่งยาที่มีสารซูโดอีเฟดรีน 4 แสนเม็ด จากการสอบถามทราบว่า คลินิกไม่ได้สั่งซื้อยาที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีนมาตั้งแต่ปี 54 ดังนั้นอาจจะมีผู้ที่แอบอ้างใช้ชื่อของคลินิกแห่งนี้ในการสั่งซื้อ แต่ทั้งนี้ผู้ที่แอบอ้างดังกล่าว จะเกี่ยวข้องกับทางคลินิกหรือไม่ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องตรวจสอบในเชิงลึกก่อน แต่ที่สังเกตได้คือผู้ที่จะแอบอ้างต้องรู้ว่าคลินิกแห่งนี้ เคยสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนมาก่อน จึงจะแอบอ้างได้
8. เปิดศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Chiang Mai Robotic Surgery Center) ที่ มช.
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) โดย อัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการ เปิดศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน นอกจากหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดแล้วยังมี ศูนย์เอกซเรย์ด้วยเครื่อง PET SCAN, ศูนย์เลสิค, ศูนย์วิจัย Stem Cell และธาลัสซีเมีย, ศูนย์ผู้มีบุตรยาก, ศูนย์สุขภาพสตรีและศูนย์เวชศาสตร์ความงาม, ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน รวมทั้ง ศูนย์ผู้สูงอายุ
สำหรับศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robotic Surgery นับเป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีทันสมัย สามารถทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้สะดวก ปลอดภัย และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ด้วยช่องมองภาพการผ่าตัดเป็นภาพ 3 มิติ และมีกำลังขยายภาพของกล้องผ่าตัดถึง 10 เท่า ทำให้การผ่าตัดมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และตัวหุ่นยนต์ผ่าตัดประกอบด้วยแขนหุ่นยนต์ 4 แขนที่มีการพัฒนาสามารถหักงอและหมุนได้อย่างอิสระ จึงทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมภาพการผ่าตัดภายใต้กล้องในบริเวณที่ต้องการผ่า เพื่อให้แพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ และพยาบาลสามารถมองเห็นได้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยหลายระบบ ได้แก่?โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ โรคทางระบบทางเดินอาหาร โรคทางระบบนรีเวช โรคทางระบบหัวใจ และโรคทางระบบหู คอ จมูก
9.แต่งตั้งให้ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ สมัยที่ 2
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป นับเป็นการดำรงตำแหน่งอธิการบดีของวาระที่ 2 ของ ศ.นพ.ภิรมย์ และเป็นอธิการบดีจุฬาฯ คนเดียวในรอบ 18 ปี ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นวาระที่ 2
10.ประชาชนพร้อมช่วย สสส. หากไม่มีภาษีบาป
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP กล่าวในการแถลงข่าว “ผลประเมินการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.” ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้สังคม ด้วยการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน อาทิ การลดปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาการสูบบุหรี่ โดยได้รับงบประมาณร้อยละ 2 จากภาษีสุรา และบุหรี่ หรือคิดเป็น 3,000 ล้านบาทต่อปี
HITAP จึงมีความคิดว่าควรมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผลทางเศรษฐกิจ จากการดำเนินนโยบายในการลดปริมาณผู้สูบบุหรี่และผู้ดื่มแอลกอฮอล์ โดยได้รับงบประมาณจาก สวรส.4-6 ล้านบาท ทำการศึกษา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2552 โดยทำการสำรวจกลุ่มประชาชน 7,311 คน ในกลุ่มอายุ 15 ปี-65 ปี ใน 10 จังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ สำรวจ 2 เรื่อง คือ 1.การประเมินความเต็มใจจ่ายของครัวเรือนต่อมาตรการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.และ 2.การพัฒนาแนวทางการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพ ของ สสส.
11.ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องหมอไม่ผิดละเมิดผู้ป่วย อ้างจ่ายยาคลายเครียด “ซาแนกซ์” จนติด วันที่ 21 พฤษภาคม ศาลแพ่งธนบุรี ถ.เอกชัย ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นางวาสนา แพร่คุณธรรม อายุ 46 ปี อดีตพนักงานบริษัทเอกชน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.กิตติ ก่อเกียรติ เจ้าของคลินิกแห่งหนึ่ง เป็นจำเลย คดีผู้บริโภค เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 8,085,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันถัดฟ้อง กรณีเมื่อปี 2543 โจทก์ไปรักษาอาการเครียดที่คลินิกของจำเลย ซึ่งได้จ่ายยาซาแนกซ์ ซึ่งเป็นยาอัลปราโซแลม ขนาด 1 มิลลิกรัมให้โจทก์รับประทาน ครั้งแรกประมาณ 20-30 เม็ด แล้วภายหลังเพิ่มจำนวนยาเป็นครั้งละ 100-300 เม็ด จนถึงจ่ายยาให้เป็นขวดๆ ละ 500 เม็ด ต่อเนื่องนาน 10 ปี จนทำให้โจทก์มีอาการติดยา และผลจากการติดยาทำให้โจทก์เป็นโรคลมชักถาวร จนต้องบำบัดอาการติดยา และผลจากการเป็นโรคลมชัก ทำให้โจทก์ต้องเข้าผ่าตัดจากหัวไหล่หลุดถึง 2 ครั้ง จนโจทก์ไม่สามารถใช้แขนขวาได้ตามปกติ ซึ่งโจทก์ต้องออกจากงานเพื่อรักอาการป่วยด้วย จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
คดีนี้ศาลแพ่งธนบุรี มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.54 เห็นว่า คดีนี้จำเลย มีแพทย์เบิกความให้ความเห็นว่า การที่จำเลยสั่งจ่ายยาซาแนกซ์ ตั้งแต่เดือน ต.ค.46-ส.ค.52 เฉลี่ยประมาณเดือนละ 50 เม็ด ถือว่าเป็นการสั่งยาตามปกติไม่ผิดปกติ ขณะที่การกินยาซาแนกซ์ไม่ทำให้เกิดอาการลมชัก ส่วนการชักนั้น เมื่อผู้ป่วยทานยาซาแนกซ์ติดต่อกัน เมื่อหยุดยาทำให้ชักได้แต่ก็ไม่ใช่ลมชัก ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายยาให้โจทก์ตั้งแต่เดือน ต.ค.46-ส.ค.52 เฉลี่ยประมาณเดือนละ 50 เม็ด ขนาด ๆ 1 มิลลิกรัม ตามเอกสารเวชระเบียนเป็นการสั่งจ่ายยาตามปกติ ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายและอยู่ในกระบวนการรักษาปกติ ไม่เป็นเหตุให้เกิดโรคลมชักตามที่โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกค่าทดแทน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
12.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจับมือองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เปิดศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ นำร่องการทำงานขององค์การอิสระ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเพื่อองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทั่วประเทศ การสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในรูปแบบคณะกรรมการองค์การอิสระ โดยกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคที่มีการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี มีสิทธิเสนอชื่อผู้แทนระดับเขตและผู้เชี่ยวชาญการคุ้มครองผู้บริโภค และให้มีการคัดเลือกกันเองขององค์กรผู้บริโภค เพื่อให้ได้คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจำนวน 15 คน โดยมีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคระดับเขตจำนวน 8 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 7 คน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ให้องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่มีประสบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ ไม่น้อยกว่า 3 ปี สมัครขึ้นทะเบียนเพื่อส่งผู้แทนเป็นคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเพื่อทดลองพัฒนาระบบบริหารจัดการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในรูปแบบคณะกรรมการองค์การอิสระ ขณะที่รัฐสภายังไม่สามารถผลักดันให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 โดยสามารถศึกษารายละเอียดและหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้ที่เวปไซท์ www.consumerthai.org หรือโทรศัพท์สอบถามที่ 022483737 ต่อ 123
13.ชะตา "แพทย์ พยาบาล ทันตฯ" ในเงื้อมมือ "เออีซี"
กรณีที่ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยแพร่ผลการศึกษาเรื่อง “ศักยภาพการแข่งขันของการเปิดเสรีแรงงานวิชาชีพไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (ASEAN Economic Community: AEC) ระบุว่ากลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล เป็น 3 ใน 7 สาขาอาชีพที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดภายหลังประเทศไทยมีการเปิดเสรีแรงงานอาเซียนในปี 2558
ศ.คลินิก.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา แสดงความคิดเห็นว่า ส่วนของแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล นั้น มีการพูดคุยกันในองค์กรวิชาชีพ ทั้ง แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด สภาเภสัชกรรม และสภาเทคนิคการแพทย์ เพราะเชื่อว่าจะต้องมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะนอกจากใน 10 ประเทศอาเซียนแล้ว ในอนาคตยังมี จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และรัสเซีย ที่จะขอเปิดเสรีการแพทย์กับไทยด้วย เมื่อพิจารณาในเรื่องผลกระทบ จะพบว่าการเปิดเสรีการแพทย์จะกระทบต่อ 1.ด้านระบบธุรกิจสถานพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการลงทุนในโรงพยาบาลเอกชน ที่เปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ถึงร้อยละ 70 จากเดิมที่เคยให้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 49 2.ด้านการศึกษา หลักสูตรทั้งภาษาไทยและนานาชาติ (อินเตอร์) นักศึกษาที่จบและทำงานจะต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งแพทยสภาเป็นผู้จัดสอบและออกใบอนุญาตให้ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่เรียนในประเทศไทย หรือชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเช่นกัน
ทางด้าน ทพ.ศิริชัย ชูประวัติ นายกทันตแพทยสภา ก็มีความเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หลักสูตรทันตแพทย์ในแต่ละประเทศยังมีความหลากหลาย ซึ่งจะทำให้มาตรฐานของแต่ละประเทศแตกต่างกัน และไม่เท่าเทียมกันแน่นอน เช่น ประเทศไทย ยึดหลักสูตรตามแบบสหรัฐอเมริกา เรียนจบหลักสูตรภายใน 6 ปี ขณะที่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ยึดหลักสูตรแบบอังกฤษเรียนเพียง 5 ปี แต่สำหรับประเทศไทยนั้น หากเปิดเออีซีจะใช้วิธีวัดมาตรฐานจากการสอบ และการใช้ภาษาไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นการกีดกันชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน เพราะคนไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องใช้ภาษาของประเทศนั้นๆ ได้ดีเช่นกัน
กลุ่มอาชีพพยาบาล ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 2 ก็มีความเห็นไม่ต่างกันว่า การเปิดเออีซีไม่น่าจะเป็นเหตุให้พยาบาลของไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งงาน แต่ยอมรับว่าก็อาจจะมีพยาบาลต่างชาติ เช่น ฟิลิปปินส์ เข้ามาทำงานบ้าง แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ ขณะนี้พบว่าตามแนวชายแดนด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีโรงพยาบาลเอกชนไปลงทุนเพื่อรับลูกค้าที่มีฐานะจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะมีการเปิดรับสมัครพยาบาลที่มาจากประเทศติดชายแดนไทยเข้ามาทำงานด้วย เพราะใช้ภาษาสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติได้ ซึ่งหากเป็นดังเช่นที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้พยาบาลไทยถูกแย่งงานไปบางส่วนแน่นอน
จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซ์ซิม แบงค์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International: JCI Accreditation ของสหรัฐอเมริกา จำนวน 28 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในอาเซียน สะท้อนว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านมาตรฐานของสถานพยาบาล อีกทั้งแพทย์ไทยยังได้รับการยอมรับด้านความสามารถในระดับสากล ขณะที่อัตราค่าบริการยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ ทำให้ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบที่เกื้อหนุนให้สามารถดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลได้มากที่สุดในเอเซีย ซึ่งสถิติในปี 2553 มากถึง 1.74 ล้านคน แต่ธุรกิจการรักษาพยาบาลของประเทศไทยภายใต้เออีซีก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย และต้องเร่งปรับตัว เนื่องจาก 1.ยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ 2.การแข่งขันในธุรกิจการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกับสิงคโปร์ และ มาเลเซีย และ 3.ยังต้องเผชิญกับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเป็นข้อจำกัดในการลงทุน เช่น อินโดนีเซีย กำหนดให้ต่างชาติลงทุนในโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงขึ้นไปเท่านั้น
- 3 views