มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตือนภัย กล่องบรรจุภัณฑ์เหล็กของขวัญปีใหม่ มีคมจนบาดนิ้วได้รับบาดเจ็บ กรณีหมอรามาฯ โดนกล่องเหล็กบาดนิ้วเอ็นขาด ทำงานไม่ได้ 2 เดือน ร้องผู้ประกอบการตรวจสอบสินค้าก่อนจำหน่าย และเยียวยาผู้เสียหายตามสิทธิผู้บริโภคที่ต้องได้รับความปลอดภัยจากสินค้า
ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บจากคมของกล่องบรรจุภัณฑ์เหล็ก กล่าวว่า หมอได้รับบาดเจ็บจากการเปิดกล่องเหล็กใส่เครื่องดื่มชนิดผงแบบซองรูปทรงสี่เหลี่ยมลายการ์ตูน ฝาดูค่อนข้างหนา เป็นฝาสองชั้นที่งับกันอยู่ แต่ผลิตภัณฑ์ประกอบมาไม่แน่นหนา เมื่อเปิดกล่องตามปกติ ฝากลับแยกออกจากกัน ฝาชั้นล่างที่คมเหมือนมีดสะบัดมาบาดนิ้วโป้งขวาเป็นแผลประมาณ 1 เซนติเมตร ตรวจพบว่าเอ็นขาด เกือบ 90% กระดกปลายนิ้วไม่ได้ ต้องเย็บซ่อมเอ็นและใส่เฝือกนิ้วโป้งอยู่นานถึง 2 เดือน
เมื่อโดนบาดในลักษณะนี้ แล้วเลือดไม่หยุดหรือกระดกนิ้วไม่ได้ แนะนำให้หาหมอเพื่อประเมินความลึกของแผล เพราะถ้าเกิดบาดลึกจนเอ็นขาด แล้วมาช้าเกินไป เอ็นจะหดแล้วเย็บแผลไม่ได้ โดยอาการบาดเจ็บและการใส่เฝือกมือขวาส่งผลให้หมอเขียนหนังสือไม่ได้ และตรวจคนไข้ไม่ได้ในช่วงโควิดกำลังระบาด อีกทั้งยังใช้ชีวิตประจำวันยากมาก ต้องใช้มือซ้ายที่ไม่ถนัดเป็นหลัก แม้จะถอดเฝือกออกมาสักระยะแล้ว นิ้วโป้งก็ยังงอได้ไม่เต็มที่ จับปากกาได้แต่ยังเขียนหนังสือไม่ค่อยคล่อง
อุบัติเหตุแบบนี้เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนมีโอกาสเกิดขึ้นกับตัวเอง คนใกล้ตัวหมออย่างเจ้าหน้าที่ที่ทำกายภาพให้ก็เคยโดนกล่องลักษณะนี้บาดเป็นแผลเช่นกัน แต่ไม่โดนเอ็น จึงอยากเตือนคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่อาจจะอาการหนักกว่านี้ถ้าเกิดปัญหา ว่ากล่องเหล็กแบบนี้ไม่ปลอดภัย การออกแบบการผลิตน่าจะมีปัญหา ซึ่งถ้าผลิตภัณฑ์ประกอบมาไม่แน่นหนา เปิดแล้วฝาแยกออกจากกัน ไม่ทำขอบคม แล้วมาบาดมือได้แบบนี้ จะต้องเตือนผู้ประกอบการให้ปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะมีคนบาดเจ็บรายอื่น ถ้าถึงขั้นสูญเสียนิ้วโป้งจะเสียหายมาก ส่วนเรื่องของการเยียวยา ผู้ประกอบการควรชดเชยความเสียหายด้วย เพราะเบิกเงินกับประกันที่ทำไว้ไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้แอดมิด
ในกรณีนี้ เนื่องจากเป็นหมอจึงเข้าถึงการตรวจรักษาได้เร็ว และใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ารักษาได้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่สามารถทำงานได้ตั้ง 2 เดือน ไม่มีรายได้ ก็จะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาอะไรเลย หมอจึงอยากเสนอให้ทุกคนเรียกร้องสิทธิเมื่อพบปัญหาจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อผลักดันให้สังคมปลอดภัย ไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำ และเสนอให้บริษัทต่างๆ ควรจะมีช่องทางที่เป็นสาธารณะ สำหรับให้ผู้บริโภคแจ้งเมื่อเจอปัญหา พร้อมพยานหลักฐาน รูปถ่าย หรือรายละเอียดอื่นๆ ที่ต้องการ เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า อยากเตือนให้ผู้บริโภคระวังการซื้อสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์เป็นกล่อง ไม่ว่าจะใส่อาหารหรือขนม ที่ทำเพื่อความสวยงามและเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากพบอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น เปิดกล่องแล้วโดนคมเหล็กบาด กล่องผลิตแล้วเกิดปัญหาเรื่องความคมของบรรจุภัณฑ์ จึงต้องเปิดด้วยความระมัดระวัง และต้องระมัดระวังหรือดูแลเด็ก ๆ ที่จะเปิดกล่องเอง กล่องบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเหล็กหรืออะลูมิเนียมใส่สินค้าขายให้ผู้บริโภคต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบให้มีความปลอดภัย
เนื่องจากผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่เปิดกล่องแล้วฝาบาดมือเอ็นขาด ทำให้ต้องคำนึงว่าจะเป็นอันตรายกับเด็ก เพราะอาจจะมีโอกาสบาดเจ็บมากกว่า และยังมีคนอื่น ๆ ที่เจอปัญหาเช่นกันแต่ยังไม่ได้ร้องเรียน ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเป็นกล่องเหล็กหรืออลูมิเนียมที่มีความคม จึงควรใส่ใจและพัฒนาขั้นตอนกระบวนการผลิต ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ให้ปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์และทดลองใช้ก่อนจำหน่ายสู่ท้องตลาด
มูลนิธิฯ ต้องการให้ผู้ประกอบการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะผู้เสียหายเป็นหมอที่ไม่สามารถใช้นิ้วทำหัตการได้ ไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ตามปกติเป็นเวลานาน ปัจจุบันก็ยังไม่หายจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการ กรณีเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสินค้า
ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ และเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคก็ควรเรียกร้องสิทธิ หรือแจ้งให้ผู้ประกอบการเยียวยาค่าเสียหายนั้น ส่วนเยียวยาเท่าไหร่ เป็นเรื่องของความเสียหายที่ผู้บริโภคสามารถที่จะรวบรวมค่าเสียหาย แล้วให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียโอกาสจากการทำงาน หรือค่าที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้และต้องหยุดงาน หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการต้องไปรักษาอย่างต่อเนื่อง เรื่องเหล่านี้เป็นการเรียกร้องสิทธิ
หากเกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้น อยากให้ทุกคนมาเรียกร้องสิทธิในเรื่องของการชดเชยเยียวยาความเสียหายกับผู้ประกอบการ ถ้าเห็นว่ากล่องนั้นเป็นอันตราย แล้วทุกคนได้รับอันตรายจากบรรุจภัณฑ์สินค้านั้น แจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/ และอ่านเรื่องราวของเคส “กล่องสวยซ่อนคม” เพิ่มเติมได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/3849
- 330 views