นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 27 พ.ค. 55-อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีของประเทศไทยในปัจจุบันสูงถึง ร้อยละ 3-10 ของจำนวนประชากร แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เด็กในวัยแรกคลอดแล้วก็ตาม แต่จำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีก็ยังมีจำนวนสูงอยู่ รวมถึงในเขตภาคเหนือ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการไหลเข้ามาของแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพทางภาคเหนือของไทย อีกทั้งค่ายอพยพต่างๆ ที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือในด้านวัคซีน
นอกจากนี้ วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% เนื่องมาจากปัญหาระบบการขนส่งวัคซีนที่หลายต่อหลายทอด เกิดปัญหาห่วงโซ่ความเย็น หรืออุณหภูมิในการเก็บวัคซีนไม่คงที่ ทำให้คุณภาพวัคซีนเสื่อมลงไป และภูมิคุ้มกันในเด็กเอง อาจจะไม่สามารถครอบคลุมโรคได้ตลอดเช่นกัน จึงทำให้โรคไวรัสตับอักเสบบี ยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขอยู่ต่อไป
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่ยังไม่เคยตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ให้รีบไปตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีสักครั้งในชีวิต เพื่อจะได้รีบรักษา หรือเฝ้าระวังก่อนจะลุกลามไปสู่โรคตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 (ก่อนที่จะมีวัคซีน) รวมถึง ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว ก็ควรได้รับการตรวจเพื่อดูว่ามีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นหรือไม่
แต่ปัญหาสำคัญของโรคไวรัสตับอักเสบบีก็คือ คนไทยส่วนใหญ่มักจะละเลยและคิดว่าโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคที่ไม่อันตราย จึงไม่คิดที่จะตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี ทั้งที่ความจริงแล้วไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคที่ติดต่อกันง่าย เพราะติดต่อได้หลายทาง ทั้งทางเลือด เพศสัมพันธ์ ใช้อุปกรณ์ปนเปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น กรรไกรตัดเล็บ เข็มฉีดยา แปรงสีฟัน รวมไปถึงอุปกรณ์ในการสัก จากมารดาสู่บุตร และไม่รู้ว่าเป็นพาหะหากไม่ตรวจเลือด
โรคนี้จะไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าการดำเนินโรคจะรุนแรงสู่โรคมะเร็งตับ โรคตับวาย รวมถึงตับแข็ง ที่สำคัญโรคไวรัสตับอักเสบบีนี้ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กๆ ด้วยกันเอง ที่อยู่ตามเนิร์สเซอร์รี่ รวมถึงสัมผัสในหมู่ญาติด้วย
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลเองก็ไม่มีนโยบายในการให้ความสำคัญกับการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี ทำให้การเข้าถึงด้านการรักษายังไม่ชัดเจน ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อประเทศมากนัก แต่ผู้ป่วยก็ต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านค่ารักษาที่สูง ฉะนั้น กลุ่มผู้ที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ควรให้ความสำคัญในด้านสุขภาพ โดยการหมั่นไปตรวจเลือดอยู่เสมอ จะได้หาทิศทางในการรักษาได้อย่างถูกวิธี
และที่สำคัญโรคไวรัสตับอักเสบบีนั้น ตรวจเพียงครั้งเดียวก็รู้ผลแล้ว ถ้าหากตรวจพบเชื้อในระยะแรกก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
เป็นที่น่าเป็นห่วงว่า ชาวภาคเหนือ ยังมีความตื่นตัวเรื่องไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างน้อย โดยพบกลุ่มผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีในภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 30-40 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ดังเช่นล่าสุดในกลุ่มผู้มาบริจาคเลือด ตรวจพบมีไวรัสตับอักเสบบีได้ถึง 3.5% กลุ่มนี้ไม่ได้ตั้งใจมาตรวจคัดกรองโดยตรง และเมื่อมีการแจ้งผลตรวจเลือดให้ทราบ ผู้บริจาคเลือดส่วนใหญ่กลับไม่ยอมมารับสุขศึกษาและแผนการติดตามที่เหมาะสมในระยะยาว
ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนร่วมกันประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ชาวภาคเหนือ ตลอดจนคนไทยทุกคน ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีก่อนที่จะสายเกินไป ให้คิดว่าการไปตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี ก็เหมือนกับการไปตรวจความดัน และเบาหวาน
- 51 views