ไทยโพสต์ 24 พ.ค. 55-สปส.เล็งเพิ่มสิทธิค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอุบัติเหตุในระหว่างการทำงานแบบไม่จำกัดเพดาน จากเดิมให้แค่ 3 แสนบาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติอนุมัติให้ตั้งคณะทำงานแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย โดยมีอารักษ์ พรหมมณี รองเลขาธิการ สปส. เป็นหัวหน้าศึกษาแนวทางการเพิ่มเพดานค่ารักษาพยาบาลแก่ลูกจ้าง กรณีประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจากเดิมที่จ่ายสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท เป็นการจ่ายแบบไม่มีเพดานจนกว่าการรักษาสิ้นสุด
แหล่งข่าวกล่าวว่า วิธีการเดิมเมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยในระหว่างการทำงานจะเบิกได้ไม่เกิน 4.5 หมื่นบาท หากเจ็บหนักก็จะเพิ่มเงินค่ารักษาพยาบาลให้เป็นขั้นๆ โดยผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์ สูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท
ขณะที่แนวทางการจ่ายเงินแบบใหม่ ให้ลูกจ้างเข้ารับการรักษาเลยโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการการแพทย์อีก แล้วให้แพทย์ที่ปรึกษาเข้าไปดูรายละเอียดว่าโรงพยาบาลรักษาเกินความจำเป็นหรือไม่ หรือในทางปฏิบัติจะเรียกว่าการจ่ายตามกลุ่มโรคร่วม (ดีอาร์จี) สมมติ เช่น ไฟคลอก ค่ารักษาไม่ควรเกิน 9 หมื่นบาท หากโรงพยาบาลเรียกเก็บ 7 หมื่นบาทถือว่าไม่รักษาเกินจำเป็น
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสิทธิดังกล่าวยังมีความวิตกจากนายจ้างบางส่วน ว่าหากเปลี่ยนเป็นรักษาโดยไม่มีเพดานแล้วจะทำให้กองทุนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจนต้องเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากปัจจุบันที่เก็บระหว่าง 0.2-1% ตามความเสี่ยงของประเภทกิจการ ขณะแหล่งข่าวกล่าวว่า การเพิ่มสิทธิดังกล่าวไม่น่าจะกระทบถึงสถานะของกองทุน เนื่องจากกองทุนมีเงินเหลือจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่ลูกจ้างประมาณ 800 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ โครงสร้าง สปส.มีกองทุนที่ดูแล 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยในระหว่างการทำงาน จะต้องเบิกเงินค่ารักษาจากกองทุนเงินทดแทน แต่หากเจ็บป่วยนอกเวลางานจึงจะเบิกค่ารักษาจากกองทุนประกันสังคม
- 2 views