"คงเป็นเพราะตำราเศรษฐศาสตร์เขียนไว้ว่า การทำธุรกิจ ต้องได้ผลตอบแทน เงินจึงกลายเป็นสิ่งเสพติดของคนทำธุรกิจ แต่ในฐานะมนุษยชาติ จะไล่ล่าเงินไปเพื่ออะไรหากไม่ได้ใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับใคร แล้วคำว่ามนุษยชาติจะหมายความว่าอะไร" วาทะจาก ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และก่อตั้งธนาคารกรามีน ซึ่งมีสมาชิกเป็นครอบครัวยากจนในบังกลาเทศ 4 ล้านครอบครัว และยังมีโครงการเพื่อโภชนาการ การศึกษา
ศ.ยูนุสกล่าวให้แง่คิดนี้ในการอภิปรายเรื่อง "อนาคตของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยและในภูมิภาค" ธุรกิจเพื่อสังคม : แบบจำลองใหม่เพื่อสหัสวรรษใหม่ ระหว่างเดินทางมาไทย ในการประชุมธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันเทคโน โลยีแห่งเอเชีย และสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จัดขึ้น โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักวิชาการ เข้าร่วมฟังกว่า 300 คน
แนวคิดการสร้างธนาคารที่ให้คนจนที่สุดเข้าถึงเงินทุนก่อนเป็นลำดับแรก หรือการสร้างแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้หลายพันครอบครัวได้มีไฟฟ้าใช้ หรือการผลิตโยเกิร์ตที่เติมวิตามิน แร่ธาตุ เพื่อให้เด็กในครอบครัวยากจนไม่ขาดสารอาหาร เหล่านี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจริงเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่ง ศ.ยูนุสทำได้สำเร็จ
หลักการของศ.ยูนุส มักถูกภาคธุรกิจมองว่าเป็นไปไม่ได้ และเป็นเรื่องแปลกที่จะทำให้เกิดขึ้น แต่ท่านย้ำถึงความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องที่ถูกแล้ว และเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรตอบแทนสังคม เพื่อช่วยกันสร้างสังคมดีๆ ขึ้นมา
เริ่มตั้งแต่ปี 2510 (ค.ศ.1967) ศ.ยูนุสเข้าไปในหมู่บ้านของคนยากจนรอบๆ มหาวิทยาลัย และเห็นปัญหาว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เลย เพราะธนาคารมองว่าเป็นคนไม่มีศักยภาพที่จะสามารถใช้หนี้คืนได้ แต่ท่านกลับมองเห็นว่าทุกคนมีศักยภาพเท่าเทียมกันและสามารถพัฒนาได้หากได้รับการสนับสนุน
จากนั้นจึงออกขายแนวคิดพัฒนาศักยภาพคนด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุน แต่กลับไม่มีใครเห็นด้วยและมองเป็นเรื่องแปลก ศ.ยูนุสจึงเริ่มลงมือทำโครงการนี้ด้วยตัวเอง และก่อตั้งเป็นธนาคารกรามีน ในปี 2526 โดยมีหลักว่าคนจนที่สุดต้องเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าถึงเงินทุนได้ และลองให้เงินกับผู้หญิง ซึ่งในสังคมของบังกลาเทศมองว่า ไม่มีศักยภาพใดๆ แต่หญิงเหล่านั้นก็สามารถใช้เงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองได้และกลายเป็นการจุดประกายไปทั่วสังคม
"หลักการไม่ได้อยู่ที่ว่า จะให้เงินเท่าไหร่ อย่างไร แต่คิดว่าการให้เงินเป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ ความจนไม่ได้เป็นต้นเหตุของการไร้ศักยภาพ แต่เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่คนจนที่ไม่ได้รับพื้นที่จากสังคม จึงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ เหมือนเอาเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ใหญ่ใส่กระถาง มันก็ไม่สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ คนจนส่วนใหญ่ไม่ได้รับพื้นที่จากสังคมจึงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ หลักแนวคิดนี้จึงทำให้ธนาคารกรามีนเติบโตในทั่วโลก แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าคนจนที่ธนาคารไม่ให้กู้นำเงินกู้มาคืนได้ครบเสมอ" ศ.ยูนุสกล่าว
การทำธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่ทำแล้วสังคมได้ประโยชน์ เมื่อสังคมดีสิ่งที่กลับมาก็คือผลดีต่อธุรกิจ เหมือนเป็นวงจรเดียวกัน เงินธุรกิจเพื่อสังคมเมื่อลงไปก็จะกลับมาหาธุรกิจลักษณะเหมือนรีไซเคิลที่ได้ใช้แล้วใช้ได้อีก แม้ว่าทุนนิยมจะมีความงาม แต่เหมือนการยืนบนขาข้างเดียว การทำธุรกิจเพื่อสังคมจึงเป็นเหมือนการเสริมขาให้มันมีความมั่นคงขึ้น ซึ่งต้องเร่งปรับโครงสร้างสังคมเพื่อรองรับ
ศ.ยูนุสมองว่า ถ้าสร้างธุรกิจและแก้ปัญหาสังคมได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำ ทางออกคือทุกคนต้องมีส่วนร่วม ช่วยกันทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ลงมือทำ แต่ธุรกิจทุกขนาดสามารถทำได้ ซึ่งลำพังจะรอให้รัฐบาลแก้ปัญหาทั้งหมดในสังคมคงเป็นไปไม่ได้ การแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมกับการทำธุรกิจ ซึ่งโดยปกติ 80 เปอร์เซ็นต์ ของธุรกิจเพื่อสังคม มักเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และยังมีเรื่องราวสร้างสรรค์อีกมากที่รอให้ทำ ไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐบาลเริ่ม ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างสังคมเพื่อรองรับ เพื่อกำจัดความยากจนให้หมดไปจากสังคมนี้ให้ได้
บรรยากาศภายในงานประชุมซึ่งเต็มไปด้วยนักธุรกิจ เจ้าของกิจการต่างๆ หลายร้อยคน ทำให้เห็นได้ว่าภาคธุรกิจเริ่มมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อตอบแทนคืนสู่สังคมให้มากที่สุด
ท.พ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส. เห็นว่า การพัฒนาบุคคล ชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ก็จะเกิดสุขภาพที่ดี โดยจากการสร้างแบบจำลองธุรกิจ พบว่าธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจที่ทำเพื่อสังคมควบคู่กันไปด้วยนั้น มีความยั่งยืนทางการเงินและนำความยั่งยืนกลับมาสู่ประชาชนได้ ทักษะการบริหารธุรกิจให้ยั่งยืนจำเป็นต้องเชื่อมโยงภาคธุรกิจและภาคสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ ซึ่งปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้สังคมเกิดความยั่งยืนขึ้นหากร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความตระหนักร่วมกัน เชื่อได้เลยว่าสังคมต้องน่าอยู่ขึ้นอีกมากแน่นอน
- 271 views