ชี้วัคซีน HPV ต้นทุน 90 บาท วอนรัฐบาลรู้ทันธุรกิจยา เผยข้อมูลฉีดวัคซีน 1 ครั้งยืดอายุ 7 วัน เชื่อไม่คุ้มเท่ารณรงค์ลดบุหรี่ 

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) กล่าวในการแถลงข่าว “วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ราคานี้ยังได้ไม่คุ้มเสีย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสร้างความมั่นใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และภาคีเครือข่าย 32 องค์กร ที่ โรงแรมเอเชีย กทม.ว่า ข้อความจริงเรื่องการพบมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากตามกระแสข่าวที่ผ่านมา มักระบุว่า มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 ของหญิงไทย แต่จริงๆ แล้วมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยพบเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านม ส่วนอันดับ 1 คือ มะเร็งตับ อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มาจากเชื้อเอชพีวี โดยปัจจุบันวัคซีนจะป้องกันไวรัสชนิดที่ 16, 18 จาก 40 สายพันธุ์ โดยในเอกสารของการฉีดวัคซีน ระบุว่า ไม่สามารถป้องกันได้ 100% และไม่ได้ระบุถึงการป้องกันตลอดชีวิต เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ที่ยังมีความรู้ไม่จำกัด และอยู่ระหว่างการติดตามการศึกษา โดยปัจจุบันมีงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว โดยเก็บตัวอย่างเพียง 2 จังหวัด ที่วิจัยว่า หญิงไทยติดเชื้อสายพันธุ์อะไรบ้างใน 2 จังหวัด พบว่า หญิงไทยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกจากไวรัสชนิดที่ 16, 18 ที่วัคซีนครอบคลุม พบเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ซึ่งต่างจากงานวิจัยในหญิงประเทศอื่น ที่ระบุว่า พบไวรัสชนิดที่ 16, 18 ที่ร้อยละ 70 หากรัฐบาลจะเดินหน้าวัคซีนดังกล่าว ก็ต้องมีการวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลที่รอบด้าน

นพ.ยศ กล่าวว่า หากมีการใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ในราคา 190 บาท ต้องใช้ 3 เข็ม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่าจะฉีดในเด็กอายุ 12 ปี ซึ่งมีประมาณ 4 แสนคน ดังนั้น หากรวมจำนวนเข็มทั้งหมดที่ต้องฉีดต่อปี เท่ากับ 1,200,000 เข็ม จำนวนดังกล่าวต้องเทียบว่าคุ้มหรือไม่ซึ่งข้อมูลงานวิจัยทั่วโลกมีการคำนวณประสิทธิผลจากการรับวัคซีน ว่า การรับวัคซีนชนิดนี้ 1 ครั้งจะช่วยยืดอายุ 5-7 วัน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับการป้องกันอย่างอื่น อาทิ การรณรงค์ป้องกันให้เลิกสูบบุหรี่ที่มีการเริ่มสูบมากนาน และหยุดในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไปจะช่วยยืดอายุได้ 1-2 ปี ซึ่งการป้องกันการสูบบุหรี่จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด และยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูกด้วย เนื่องจากบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลต้องตระหนักในการรับมือกับธุรกิจ เพราะวัคซีนเข้าตลาดครั้งแรก 15,000 บาท เมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันราคาต้นทุนก็ไม่ต่างจากเมื่อ 6 ปีก่อน โดยต้นทุนวัคซีนดังกล่าวเข็มละไม่เกิน 90 บาท ซึ่งธุรกิจยาเป็นธุรกิจเดียวที่ไม่ได้ตั้งราคาตามต้นทุน แต่ดูตามกำลังซื้อของประชาชน โดยไม่ต้องสนใจว่าจะกระทบ หรือประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลต้องมีกลไกที่ดีในการรับมือ

“มะเร็งปากมดลูก มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย นอกเหนือจากการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งมีประมาณ 40 สายพันธุ์ ยังพบว่า มะเร็งปากมดลูก สัมพันธ์กับหญิงที่สูบบุหรี่อย่างชัดเจน และแม้จะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เพียงแต่ได้รับเชื้อจากภายนอกก็สามารถติดเชื้อได้ โดยพบว่า กลุ่มหญิงที่สูบบุหรี่ เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่มีอัตราการเข้ารับการตรวจคัดกรองต่ำมาก นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มที่มีการตรวจคัดกรองต่ำ คือ กลุ่มที่มีการศึกษาสูง และกลุ่มที่อยู่ในเมือง มีการตรวจต่ำกว่าชนบทเพราะไม่มีแรงกระตุ้นจากสถานบริการสาธารณสุข ” นพ.ยศ กล่าว

นพ.ยศ กล่าวด้ยว่า จากการศึกษาเรื่องราคาวัคซีน และได้รับผลว่า จุดคุ้มทุนที่รัฐบาลจะสามารถจัดหาให้ประชาชนได้ คือ เข็มละ 190 บาท เกิดจากรัฐบาลมีการตั้งโจทย์ ว่า หากจะนำงบประมาณที่สามารถประหยัดได้จากการรักษามาใช้ในการฉีดวัคซีนจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งโจทย์ดังกล่าวคิดอยู่บนพื้นฐานว่า ฉีด 3 เข็มป้องกันได้ตลอดชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ให้ชัดเจน

ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดการตรวจคัดกรองจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อน ต้องมีนโยบายที่รอบด้านไม่ใช่แค่เรื่องวัคซีน ทุกวันนี้ยังมีความเข้าใจผิด เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกอย่างมาก เช่น คิดว่าเป็นเรื่องความไม่สะอาด และความรู้จากภาครัฐยังเดินทางช้ากว่าบริษัทที่ขายวัคซีน ว่า โรคมะเร็งปากมดลูก ต้องแก้ด้วยวัคซีนเท่านั้น และเกิดการสร้างความเข้าใจผิดว่าการคัดกรองเป็นการปล่อยให้ติดเชื้อแล้วจึงรักษาเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ระยะการดำเนินโรคมะเร็งกินเวลาเป็น 10 ปี การตรวจพบการติดเชื้อตั้งแต่เบื้องต้น ที่เป็นการอักเสบ จะสามารถรักษาได้หายขาดทันที และไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง

 

ที่มา : www.manager.co.th