“ไหนๆก็มาตรวจสุขภาพแล้ว ขอตรวจเยอะๆ เลยนะคะ...”
“ยาตัวนี้เป็นยาใหม่ แพงกว่านิดหน่อยแต่ดีกว่ายาตัวเก่านะ...”
“ถ้าไปตรวจเร็วกว่านี้ก็คงจะดี เสียดายที่มาช้าไป...”
คำพูดลักษณะนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน แม้ปัจจุบันคนไทยมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทาง เริ่มมีการตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆรอบตัว แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล มีน้อยคนมากที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกบอกเล่าโดยแพทย์หรือกับความเชื่อเหล่านี้ บางเรื่องแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันแต่เล่าลือกันว่าดี เช่น สมุนไพรที่รักษาโรคมะเร็งได้ คนบางกลุ่มก็พร้อมจะเชื่อทันทีเพราะเป็นความหวังในการรักษาความเจ็บป่วยของตัวเอง
อย่างไรก็ดี คำพูดของแพทย์ ของอาจารย์แพทย์ ข้อมูลจากงานวิจัย รวมทั้งความเชื่อด้านสุขภาพที่ถูกปลูกฝังกันมา บางครั้งก็เชื่อไม่ได้เสมอไป ในคดีความต่างๆ เรามี “ผู้ต้องสงสัย” ในเรื่องการแพทย์ การรักษาพยาบาล ก็มีการรักษา “ต้องสงสัย” เช่นเดียวกัน
เมื่อเร็วๆ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) ได้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า “การรักษาต้องสงสัย” โดยแปลมาจากหนังสือเรื่อง TESTING TREATMENTS ซึ่งเขียนโดย เอียน ชาลเมอร์ส, อิโมเจน อีแวนส์, เฮเซล ทอร์นตัน และ พอล กลาสซิโอ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้หยิบยกข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence Based) เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ทางการแพทย์มาแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราเชื่อถือกันอยู่นี้ หลายๆเรื่องก็ไม่จริงเสมอไป
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยอาวุโสโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการหยิบยกหนังสือเล่มนี้มาตีพิมพ์ว่า สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ตนเป็นนักเรียนที่ดี อาจารย์สอนอะไรเกี่ยวกับการใช้ตรวจวินิจฉัยและรักษาก็เชื่อมั่นว่าดีไปหมด รุ่นพี่บอกว่าอะไรดีก็เชื่อหมด จนกระทั่งมาเป็นนักวิจัยถึงได้พบว่าหลายๆ เรื่องที่อาจารย์หรือรุ่นพี่พูดอาจจะเก่าไปแล้วหรือถูกหลอกโดยบริษัทยา ได้รู้ว่าที่ผ่านมาได้ทำผิดไปหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น การให้สเตียรอยด์ในคนไข้ที่มีอุบัติเหตุทางสมอง สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์สอนว่าให้ฉีดทุกราย แต่ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าทำให้มีคนตายมากขึ้นและปัจจุบันก็เลิกใช้กันแล้ว หรือเรื่องการให้ฮอร์โมน สมัยก่อนแจกฮอร์โมนให้ผู้สูงอายุกันเยอะมาก แล้ววันนี้ถึงเพิ่งมารู้ว่ามีคนที่ทานไปแล้วเป็นมะเร็ง มีปัญหาเรื่องไต หัวใจและหลอดเลือด
“แต่สมัยนั้นเราทำไปโดยที่ไม่รู้ ก็เลยชวนให้คิดว่าเราไม่เคยมีการตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำอยู่ในวงการแพทย์มากเท่าไหร่นัก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้อะไรต่างๆโดยไม่จำเป็นหรือทำอะไรผิดพลาดโดยไม่รู้ตัว ก็เลยหยิบหนังสือเล่มนี้มาตีพิมพ์และหวังว่าน่าจะช่วยกระตุกทุกคนที่เกี่ยวข้อง อยากให้ประชาชนทั่วไป นักศึกษาแพทย์ อาจารย์แพทย์ ตลอดจนผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายได้อ่านกันทุกคน เพราะข้อเท็จจริงในหนังสือเล่มนี้สะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมไทย 100% แน่นอน” นพ.ยศ กล่าว
หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงความเชื่อทางการแพทย์ของประชาชนทั่วไปซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เช่น ทำมากกว่าใช่ว่าจะดีกว่า ทำก่อนใช่ว่าจะดีกว่า หรือของใหม่ก็ไม่ได้ดีกว่าของเก่าเสมอไป
“มีความเข้าใจผิดเยอะมากที่ว่าทำมากดีกว่าทำน้อย อย่างน้องสาวผมบอกว่าแม่ไม่ได้ตรวจเลือดนานแล้ว ควรพาไปตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจไต ตรวจตับด้วย ซึ่งจากที่ HITAP เราทำวิจัยและทบทวนเรื่องชุดตรวจสุขภาพมาเยอะมาก มันไม่มีหลักฐานเลยว่าตรวจตับตรวจไตแล้วจะทำให้ใครอายุยืนขึ้นหรือได้ประโยชน์อะไร มันเป็นความเชื่อที่ผิด หรือบางคนไปหาหมอบอกว่าไหนๆ ก็มาโรงพยาบาลแล้ว ขอตรวจเยอะๆ เลย ขอหมอส่งเอกซเรย์โน่นนี่ ซึ่งการโดนเอกซเรย์บ่อยๆ มันก็อาจทำให้เป็นมะเร็งได้” นพ.ยศ กล่าว
หรือในเรื่องทำก่อนก็ไม่ได้ดีกว่าทำทีหลัง หมอมักชอบพูดกับคนไข้ว่า “ถ้ามาถึงก่อนก็จะดีนะ นี่มาถึงช้าไป” ซึ่งทำให้ทุกคนคิดว่าทำก่อนดีกว่าทำทีหลัง แต่ในหลายๆโรคก็ไม่จริง เช่น ไข้เลือดออก ไม่มีใครรู้ว่าเป็นจนกระทั่งไข้ลดและความดันตก แบบนี้ถึงจะรู้ 100% หรือของใหม่ก็ไม่ได้แปลว่าดีกว่าของเก่า ของแพงไม่ได้แปลว่าดีกว่าของถูก เช่น ยาแก้ปวดชนิดใหม่ที่ชื่ิอ Vioxx สมัยที่ตนยังทำงานในโรงพยาบาลถือเป็นยายอดนิยมมาก เป็นยาแก้ปวดอย่างแรงที่คนไข้ปวดท้องทานได้ แต่ปัจจุบันนี้ถูกถอนออกจากตลาดไปแล้ว
“ตอนนั้นผมสั่งจ่ายยานี้แหลกเลยเพราะของมันทั้งใหม่และแพงด้วย แต่ออกมาได้ 4-5 ปี อยู่ดีๆ ยาก็ขอถอนตัวออกจากตลาดทั่วโลก พอตามข้อมูลดูถึงรู้ว่าในขั้นตอนทดลองยาก่อนออกสู่ตลาด มีคนไข้ตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดแต่บริษัทจงใจไม่เปิดเผยข้อมูล ปล่อยให้ยาออกสู่ตลาดจนมีคนตายจากโรคนี้เยอะเลย กระทั่งมีคนไปเจอว่าการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสัมพันธ์กับการกินยาตัวนี้และพบว่าบริษัทยารู้ตั้งแต่วันแรกแล้วแต่จงใจปิดข้อมูล ก็เลยเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น สุดท้ายบริษัทยาก็ถอนยาออกจากตลาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมไม่เคยกินยา ใหม่เลย กินยาเก่าก็หายเหมือนกัน” นพ.ยศ กล่าว
นพ.ยศ กล่าวว่า ตัวอย่างที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ หากคนทั่วไปได้อ่านก็หวังว่าอ่านแล้วจะรู้จักตั้งคำถามกับแพทย์ ตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเอง เข้าใจโรคที่เป็นอยู่ หรือช่วยให้หมอฉุกคิด รวมทั้งอยากให้อาจารย์แพทย์ได้อ่าน เพราะทุกวันนี้ไปอาจารย์แพทย์ทำงานทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ต้องดูคนไข้และต้องสอนนักศึกษา แทบไม่มีเวลามาอ่านหนังสือหรืองานวิจัยใหม่ๆ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100 ชิ้น มีวิธีเดียวคือผู้แทนยามาหาแล้วบอกว่ายาตัวนั้นตัวนี้ออกใหม่ดีอย่างไร ดังนั้นเมื่ออ่านแล้วก็หวังว่าจะเกิดการตั้งคำถามกับบริษัทยาบ้าง เช่นเดียวกับระดับผู้กำหนดนโยบาย เพราะไม่ใช่แค่การรักษาต้องสงสัย นโยบายก็ต้องสงสัยด้วย ว่านโยบายแบบไหนที่ผู้บริหารต้องสงสัยไว้ก่อนว่าดีจริงหรือไม่
ภญ.เบญจรินทร์ สันตติวงศ์ไชย
ด้าน ภญ.เบญจรินทร์ สันตติวงศ์ไชย ในฐานะผู้แปลหนังสือเรื่องนี้ กล่าวว่า สังคมปัจจุบันมีข้อมูลเต็มไปหมด หลายครั้งที่เราได้ยินว่า “งานวิจัยชี้ว่า...” เราก็เชื่อไปหมด แต่งานวิจัยเองก็ไม่ได้เชื่อถือได้เสมอไป คนทำอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีวาระแอบแฝงในใจ หรืองานวิจัยคุณภาพไม่ดี อ้างอิงงานวิจัยไม่ถูกต้อง หรือทริกการใช้ตัวเลข เช่น บอกว่าลดการเสียชีวิตลง 50% แต่ไม่บอกว่าของจำนวนเท่าไหร่ หรือหลายๆ อย่างเราทำตามความเชื่อ ทำตามที่เขาว่ามา เขาว่าดีก็ทำตามโดยที่บางครั้งก็ไม่เคยคิดว่าดีจริงหรือไม่ มีข้อควรระวังหรือไม่ หรือได้ผลหรือไม่ จะเสียเงินฟรีหรือไม่
กล่าวโดยสรุปคือแวดวงสุขภาพมีข้อมูลเยอะมาก ผู้ป่วยไม่ควรเชื่อทุกอย่างหรือแม้แต่ตัวแพทย์เองก็ควรตั้งข้อสงสัยกับข้อมูลที่ตัวเองได้รับมา ซึ่งหนังสือเล่มนี้จับประเด็นทางวิชาการมาเล่าในภาษาที่คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ โดยไล่เรียงความเชื่อที่คนส่วนใหญ่คิดและแจกแจงออกมาว่าบางเรื่องก็ไม่เป็นความจริง โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆมาแสดงให้เห็น
“ในฐานะคนแปลก็พยายามใช้ภาษาง่ายๆไม่ซับซ้อนเพื่อให้คนทุกกลุ่มอ่านได้ คิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์และใช้กับต่อสังคมไทยได้ เพราะหลายหัวข้อที่ยกมาก็เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องพื้นๆที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ในส่วนของผู้ป่วยยังมีคำแนะนำผู้ป่วยด้วยว่าต้องถามอะไรหมอบ้าง ซึ่งก็มีอยู่ 4-5 ข้อ เป็นคำถามง่ายๆ แต่ช่วยป้องกันตัวได้เพราะหมอเองบางทีทำไปก็ไม่ได้มีข้อมูลแต่ทำตามที่อาจารย์สอนกันมา ซึ่งการตั้งคำถามที่ดีก็จะช่วยป้องกันตัวจากการรักษาที่ไม่จำเป็น การรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือการรักษาที่อาจทำร้ายเราก็ได้”ภญ.เบญจรินทร์ กล่าว
“การรักษาต้องสงสัย” ฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในปี 2549 และมีการปรับปรุงเนื้อหาขนานใหญ่ในปี 2554 เนื้อหาในเล่มซึ่งเผยแพร่ให้อ่านฟรีบนเว็บไซต์มียอดดาวน์โหลดสูงถึงกว่า 130,000 ครั้ง และมีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้วร่วม 20 ภาษา รวมทั้งฉบับภาษาไทยเล่มนี้
ทั้งนี้ หนังสือ “การรักษาต้องสงสัย” ได้วางจำหน่ายตามร้านหนังสือทั่วไปแล้วในขณะนี้ รวมทั้งเตรียมทยอยอัพโหลดให้อ่านฟรีในเว็บไซต์ของ HITAP (www.hitap.net) ขณะเดียวกันยังเตรียมแจกฟรีอีก 100 เล่ม โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ HITAP โทร : 02-590-4549 , 02-590-4374-5 E-mail : info@hitap.net
- 112 views