เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 55 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 – 2559 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555 – 2559 ไปสู่การปฏิบัติต่อไป

แผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญโดยสรุปได้ดังนี้

          1. กรอบแนวคิดของแผนยุทธศาสตร์ฯ 

             1.1 มุ่งคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการ บูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งในเชิงพื้นที่ ประเด็นและกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง

             1.2 ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อม 7 ด้าน  คือ 1) คุณภาพอากาศ 2) น้ำ การสุขาภิบาล และสุขอนามัย  3) ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4) สารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย 5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6) การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย และ 7) การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

             1.3 มุ่งส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่และทันต่อสถานการณ์โดยการสนับสนุนของหน่วยงานทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

             1.4 พัฒนากลไกการจัดการ กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐานและมาตรการต่างๆ ให้สามารถรองรับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ  พัฒนาศักยภาพบุคลากร ระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงและเข้าถึงได้ง่าย พัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เหมาะสม และดำเนินงานโครงการป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

          2. วิสัยทัศน์ : มุ่งสู่การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและประชาคมโลกเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน

          3. วัตถุประสงค์ : เพื่อลดปัญหาและผลกระทบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขีดความสามารถในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ

          4. เป้าหมายหลัก : ความเจ็บป่วยอันอาจเนื่องมาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมลดลง

          5. ยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงาน

             5.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบบริหารจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมทั้งภาครัฐทุกระดับและภาคเอกชนให้สอดคล้องกับบริบทปัญหาและสถานการณ์ พัฒนาบุคลากรด้านงานอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดทำระบบและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พัฒนากลไกด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ

             5.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัจจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเร่งรัดการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและพื้นที่ ตลอดจนข้อตกลงตามนัยแห่งบทบัญญัติของกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

             5.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และประชาชนในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม  โดยระดมศักยภาพและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  ร่วมคิด  ร่วมสร้างสรรค์งานอนามัยสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมการบูรณาการและเสริมพลังระหว่างภาคีเครือข่าย และขับเคลื่อนผ่านสื่อต่าง ๆ  เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างจิตสำนึกสาธารณะ

             5.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมบทบาทของ อปท. ในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมบทบาทของ อปท. ภายใต้หลักคิดการกระจายอำนาจ เสริมสร้างศักยภาพบุคลากร สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาระบบงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นให้เชื่อมโยงกับส่วนภูมิภาคและส่วนกลางอย่างมีประสิทธิภาพ

             5.5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยให้เหมาะสมกับการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ปัจจุบัน สร้างฐานการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาระบบให้บริการทางวิชาการ เพื่อการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

          6. การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล

             6.1 การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ สธ. และ ทส. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินการบูรณาการการดำเนินงานกับทุกภาคส่วน  สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคีการพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

             6.2 การติดตามประเมินผล คณะกรรมการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อม ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ และรายงานการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการอนามัยสิ่งแวดล้อมและคณะรัฐมนตรี