วันนี้ (21 พ.ค.) มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และภาคีเครือข่ายอีก 32 แห่ง ได้เข้ายื่นหนังสือให้แก่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข เพื่อขอให้ทบทวนการผลักดันนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวีให้แก่เด็กหญิงอายุ 12 ปี ทั่วประเทศ โดย นพ.สุรวิทย์ ได้เข้ารับหนังสือทบทวนด้วยตนเอง

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี กรรมการและเลขานุการมูลนิธิความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า เหตุผลในการขอให้มีการทบทวน ไม่ได้หมายความว่า เครือข่ายไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีน แต่ราคาที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะดำเนินนโยบายเบื้องต้นที่ 500 บาทต่อเข็ม ยังเป็นราคาที่รับไม่ได้ โดยพบว่า ผลการวิจัยที่กระทรวงนำมาใช้ในการคำนวณเป็นงานวิจัยของบริษัทยา ที่จำหน่ายวัคซีนดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำผลการวิจัยดังกล่าวมาอ้างอิงได้ และจำเป็นต้องนำผลการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งด้านสาธารณสุขมาประเมินร่วมด้วย

น.ส.ณัฐยา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันวิธีที่คุ้มค่า คือ การตรวจคัดกรอง ซึ่งปริมาณหญิงที่รับการคัดกรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 มีหญิงรับการตรวจคัดกรอง 20% ปี 2554 มีหญิงรับการตรวจคัดกรอง 70% ซึ่ง สธ.จำเป็นต้องสนับสนุนวิธีดังกล่าวเพราะต้นทุนต่ำ และคุ้มค่ากว่าหากจะฉีดวัคซีนที่ 500 บาทต่อเข็ม แต่หากสามารถต่อรองได้ในราคาต่ำเหมือนหลายๆประเทศที่ทำได้ เช่น บราซิล เข็มละ 50 บาท หรือ องค์การอนามัยโลกที่สามารถต่อรองให้บางประเทศได้ในราคา 150 บาท ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายในราคาเข็มละ 500 บาท อีกทั้งต้องทำความเข้าใจว่า แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังต้องตรวจคัดกรองเพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันไวรัส เอชพีวี ได้ทุกสายพันธุ์

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้ยาเพื่อรักษาก็จริง แต่จำเป็นต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งเรื่องของความคุ้มค่าเป็นสิ่งที่สรุปได้ยาก เพราะสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งตามปกติเชื้อไวรัสมักจะมีการกลายพันธุ์ เช่น ไวรัสเอชไอวี ก็พบการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เมื่อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้ไม่ครบทุกสายพันธุ์ ก็ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าอนาคตหากเกิดการกลายพันธุ์แล้วจะทำอย่างไร ในขณะที่งบประมาณทางสาธารณสุขของไทยมีจำกัด ก็จำเป็นต้องเลือกใช้แนวทางที่เกิดความคุ้มค่าที่สุด
ด้าน นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า โครงการวัคซีนนั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่จะปกป้องชีวิตประชาชน ซึ่งตนยืนยันว่า แนวทางการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยให้รวดเร็วด้วยวิธีแป๊ปเมียร์ หรือ วีไอเอ ยังจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องให้มากที่สุด แต่เป็นด้านของเรื่องของการรักษา ยังจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อการป้องกัน ทั้งนี้ เมื่อมีหลายฝ่ายยังเห็นว่าไม่คุ้มค่า หรือ มีข้อโต้แย้ง ก็จะมีการเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมเพื่อทำความเข้าใจและนำข้อเสนอมาพิจารณาให้ตรงกัน และตั้งคณะกรรมการต่อรองราคาขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เพราะโครงการนี้ยังต้องทำอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลก็อยากได้ในราคาที่ต่ำที่สุด โดยขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยหรือต่อรองกับบริษัทใดทั้งสิ้น

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (ไฮแทป) กล่าวว่า เท่าที่ทราบราคาวัคซีนต่ำสุดที่มีการซื้อขายในโลกคือ 150 บาท แพงสุดคือ 70 เหรียญออสเตรเลีย ส่วนที่แพทย์ รพ.จุฬาฯระบุว่าราคาวัคซีนเข็มละ 1,800-2,000 บาทก็ยังคุ้มค่านั้นต้องบอกว่าผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยคือบริษัทยา เมื่อถามว่า ทาง นพ.สุรวิทย์ อยากให้เป็นคณะกรรมการต่อรองราคาวัคซีน ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า คงไม่เอา แต่ก็พร้อมไปให้ข้อมูลในเรื่องนี้

 

ที่มา: http://www.manager.co.th