เมื่อปีพุทธศักราช 2457 "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" ได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระประสงค์ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พร้อมด้วยพระราชภาดาและภคินี เพื่อสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นในที่ดินส่วนพระองค์เพื่อให้เป็นถาวรประโยชน์ ใช้ในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยไข้ ผู้ยากไร้โดยทั่วไป สืบสานตามพระราชปณิธานของพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อครั้งยังทรงพระชนมชีพอยู่ โดยมีพระราชดำริจัดตั้งสภากาชาดไทย ซึ่งเรียกกันในเวลานั้นว่า สภาอุณาโลมแดงขึ้น การจัดสร้างโรงพยาบาลของสภากาชาดไทยนั้นเป็นไปตามแบบอย่างนานาอารยประเทศที่เจริญแล้ว เพื่อเป็นถาวรประโยชน์เฉลิมพระเกียรติยศถวายเป็นพระราชกุศล และเป็นเกียรติคุณแก่ราชอาณาจักรไทยด้วย ดังนั้นบรรดาพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงร่วมกันบริจาคทรัพย์สมทบกับทุนของสภากาชาดไทย จัดสร้างโรงพยาบาลอย่างทันสมัยขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามตามพระปรมาภิไธยในสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2457
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการมุ่งสร้างสรรค์ให้เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริงถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เผยแผ่เกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งยังเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของชาติไทยในด้านการแพทย์และการพยาบาล ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บและผู้เจ็บไข้ ทั้งในยามสงครามและยามปกติ โดยยึดมั่นในปณิธานอันแน่วแน่ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั่วไปโดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิทางศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมืองนอกจากนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้านของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นสถานฝึกอบรมนักศึกษาพยาบาลของวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย และโรงเรียนรังสีเทคนิค ซึ่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในสายงานเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคอีกด้วย จึงนับได้ว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นศูนย์กลางของวิทยาการ การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครบถ้วนในหลายสาขาวิชาของวงการแพทย์
ตลอดระยะเวลา 98 ปี ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มุ่งมั่นสู่ความเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพิ่มพูนความเป็นเลิศในด้านการบริการ สามารถผลิตแพทย์ที่เปี่ยมคุณภาพพร้อมคุณธรรมออกไปรับใช้สังคม นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อให้โรงพยาบาลก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ตามวิสัยทัศน์ "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเสาหลักด้านสุขภาพของประเทศ และสถาบันชั้นนำในระดับนานาชาติ"
นับว่า ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีความพร้อมรอบด้าน อาทิ การให้บริการทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพได้มาตรฐานมีคุณภาพ รวมทั้งมีการฝึกอบรมและการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการและชี้นำสังคมเสมอมา ไม่เพียงแค่นั้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังพร้อมให้บริการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยในทุกๆ ระบบแบบครบวงจร รวมถึงการรับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อรักษาต่ออย่างมีคุณภาพจนถึงที่สุด
จากการมุ่งมั่นพัฒนารูปแบบการบริการทางการแพทย์ที่ล้ำหน้าทันสมัย สร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การ
พัฒนาด้านวิชาการ รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานการรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพออกสู่สายตาประชาชน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาให้บริการกับประชาชน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีสมรรถนะสูงในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic Surgery), เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา (1,000 Degrees Directions Arc Therapy machine), หุ่นยนต์จัดเตรียมหลอดเลือดอัตโนมัติ หรือ Rabelon 1 เป็นต้น และปัจจุบัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์รวมทั้งหมด 17 ศูนย์ อาทิ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ (เพื่อมะเร็งเต้านม), ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ไฟไหม้น้ำร้อนลวก, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิซึม, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านการให้บริการปลูกถ่ายกระจกตาและการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตา ฯลฯ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังตระหนักถึงปัจจัยพื้นฐานทางกายภาพเฉกเช่นกัน ด้วยการสร้างอาคารรักษาพยาบาลรวมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ "อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์" ขึ้น เป็นอาคารแฝดสูง 29 ชั้น มีการจัดระเบียบพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน และสามารถใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภายในอาคารได้จัดให้มีพื้นที่การรักษาพยาบาล ห้องผ่าตัด ห้อง ICU ห้องฉุกเฉิน ศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ตลอดจนศูนย์การเรียนการสอน ที่จอดรถ ฯลฯ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและรองรับกับผู้ป่วยที่มารับบริการเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นตามลำดับทุกปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2557
เนื่องในโอกาสวันสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ครบ 98 ปี จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบกองทุน "30 พฤษภาฯ วันสถาปนาโรงพยาบาล" หรือร่วมบริจาคเงินสมทบทุนการจัดหาครุภัณฑ์ อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ สำหรับอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ (อาคารรักษาพยาบาลรวมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์) ของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บริจาคได้ที่หน่วยพิธีการ ตึกวชิรญาณวงศ์ ชั้นล่าง โทร.0-2256-4382 หรือที่ศาลาทินทัต โทร.0-2256-4397 และฝ่ายการเงิน ตึกอำนวยการ ชั้นล่าง โทร.0-2256-4268 .ทุกๆ แรงศรัทธาที่ร่วมบริจาคคือแรงเกื้อหนุนให้กิจการของโรงพยาบาลสามารถบรรลุผลในการสืบสานพระราชปณิธานในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน เพราะ "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเสาหลักด้านสุขภาพของประเทศ และสถาบันชั้นนำในระดับนานาชาติ" ให้สมกับที่เป็นโรงพยาบาลเพื่อปวงชน
- 36 views