สธ. จับมือภาครัฐ-เอกชนร่วมป้องกันปัญหาวัณโรคและเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ตั้งเป้านำร่อง 50 แห่งในกรุงเทพฯและนนทบุรี แนะแรงงานหญิงพกถุงยางอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชุมเตรียมความพร้อมการป้องกันและบริหารจัดการด้านวัณโรคและเอดส์ในสถานประกอบกิจการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคของผู้ใช้แรงงาน ตั้งเป้า 50 แห่ง โดยนำร่องในกรุงเทพฯ และนนทบุรี
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2555) ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อม การป้องกันและบริหารจัดการด้านวัณโรคและเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ดำเนินงานโดยมูลนิธิศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์วัชโรทัย และเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก
นายแพทย์พรเทพ กล่าวว่า นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินงานควบคุมป้องกันและลดวัณโรคให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคในประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่ทำให้ผู้ป่วยเอดส์มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจนทำให้ป่วยเป็นวัณโรคมากขึ้นประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศของโลกที่ยังมีปัญหาวัณโรครุนแรง คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาณปีละ 11,000ราย และองค์กรอนามัยโลกได้ประมาณการว่าประชากรไทยที่คาดว่ามีเชื้อวัณโรคมาแอบแฝงอยู่ที่ปอด ประมาณร้อยละ 30 หรือ 20 ล้านคน และกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 94,000 คนในจำนวนนี้ร้อยละ 50 อยู่ในระยะแพร่เชื้อและร้อยละ 16 ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คาดว่ามียอดสะสมรวมกว่า 1,100,000ราย และยังคงมีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 ราย ร้อยละ 84 ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยวัณโรคและเอดส์ในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เกิดจากความยากจน แรงงานเคลื่อนย้าย แรงงานต่างชาติ แรงงานในสถานประกอบกิจการ สภาพที่แออัดภายในเรือนจำที่เอื้อต่อการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค และผลกระทบจากการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราตายสูง และมีปัญหาเชื้อดื้อยาวัณโรคเพิ่มขึ้น
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อไปอีกว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัณโรคและเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน การดำเนินงานตามแนวปฏิบัติตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่อมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม(CSR) การส่งเสริมการตลาดต่างประเทศจากการได้รับรองมาตรฐานการบริหารจัดการด้านเอดส์ ASO-T THAILAND และเป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติส่วนรวม ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล ความรู้ที่ทันสมัยในเรื่องวัณโรคและเอดส์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจน โดยนำร่องให้กับผู้บริหารจากสถานประกอบกิจการภายในกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 50 แห่ง
สาระสำคัญในการประชุม ได้แก่ การอภิปราย เรื่อง มาตรฐานการบริหารจัดการเรื่องวัณโรคและเอดส์(ASO-T Thailand) แนวทางการดำเนินงานและประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการได้รับ โดย ดร.แอนโทนี่ ประมวญรัตน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ คุณประยูร บุญสถิต ผู้อำนวยการบริหารบริษัทโปรดักท์ ดิเวลลอป์เม้นท์ เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (บริษัทได้รับมาตรฐาน ASO-T Thailand ระดับ PLATINUM ยอดเยี่ยมของประเทศไทยปี 2551) นายอนันตวิทย์ วัชโรทัย ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์วัชโรทัย และผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อวางแผนการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับวัณโรค สามารถติดต่อโดยผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากปิดจมูก และผู้อยู่ใกล้หายใจที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิด เช่น ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ไอแห้งๆ มีเสมหะ น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก ไข้ต่ำๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาศัยหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด ผู้มีประวัติต้องขังในเรือนจำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต เป็นต้น ให้สงสัยว่าเป็นวัณโรคและควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อในสถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ใช้เวลาในการรักษา 6-8 เดือน โดยกินยาครบทุกเม็ด ครบทุกมื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยา ไม่ควรหยุดยาเอง และควรมีพี่เลี้ยงดูแลการกินยาจนครบการรักษา หากมีอาการแพ้ยารีบปรึกษาแพทย์ทันที
“ส่วนปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี ขอให้ทุกคนหันมาป้องกันตนเองและรับผิดชอบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกกลุ่ม พร้อมแนะนำแรงงานหญิงพกถุงยางอนามัยติดตัวเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยจากโรคเอดส์ ถ้าต้องการคำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลและเครือข่ายบริการที่เป็นมิตรใกล้บ้าน ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี(เอดส์) ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โอกาสป่วยเป็นวัณโรครวดเร็วและรุนแรงมากกว่าผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” นายแพทย์พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย
- 17 views