เปิดร่าง พ.ร.บ.เหล้า ฉบับใหม่ นักวิชาการ ภาคประชาชน ห่วง! ร่าง พ.ร.บ.เหล้า ฉบับใหม่ อาจควบคุมน้อยลงหวัง กระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เพิ่มช่วงเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีสถานที่จำหน่ายมากขึ้น
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ในการเสวนาหัวข้อ “วางกรอบทิศทางการควบคุมแอลกอฮอล์ในประเทศไทย: วิเคราะห์เชิงวิพากษ์กฎหมายใหม่ ” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2567
รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถานบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า หากเทียบกับ พรบ.เดิม มีโอกาสที่สถานที่จะเปิดให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือให้ดื่มมากขึ้น เช่น สถานที่ราชการ อาจมีการขออนุญาตเป็นครั้งได้ จากเดิมที่ห้ามเด็ดขาด อาจมีการกำหนดให้มีช่วงเวลาขายมากขึ้นได้ อย่างในช่วงบ่ายอาจให้จำหน่ายในบางพื้นที่ ส่วนเรื่องการตลาดที่ทำได้มากขึ้นเป็นเรื่องการให้ข้อมูลของสินค้าได้ สิ่งที่น่ากังวล คือ คณะกรรมการชุดใหญ่จะเหลือเพียง 1 ชุด เป็นการให้อำนาจไปที่ฝ่ายบริหาร
"สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อ พรบ.ฉบับใหม่ผ่านออกมา หากฝ่ายบริหารต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะกำหนดให้ขายง่ายขึ้น และยังมีภาคเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการควบคุมฯ ไม่ใช่แค่ที่ปรึกษา กลไกในกรรมาธิการมีเอกชนเข้ามา ทำให้เกิดข้อกังวล คือ อาจมีข้อกำหนดควบคุมน้อยลง ส่งผลให้กฎหมายที่ควบคุมด้านสุขภาพ มีกรรมการภาคธุรกิจไปร่วมได้ในอนาคต หรือหากกฎหมายออกมา อาจถูกอ้างในประเทศอื่นได้ว่า ประเทศไทยเสรีขึ้น ให้ประเทศอื่นมีโอกาสทำเช่นกันได้หรือไม่" รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
นายธีระ วัชรปราณี คณะกรรมาธิการวิสามัญพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีความท้าทายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีการตลาดแบบสื่อดิจิตอล เพิ่มลูกค้าเป็นเยาวชนและผู้หญิง มีผู้ผลิตรายย่อยและรายกลางมากขึ้น จากเดิมที่มีผู้ผลิตและจำหน่ายเป็นรายใหญ่ จึงเป็นข้อห่วงใยในกฎหมายฉบับใหม่นี้
สำหรับภาพรวมการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่
1. การยกเลิกกฎหมายอื่นมารวมไว้ในร่าง พรบ. คือ ยกเลิก ปว.253 + คำสั่ง คสช. 22/2558 (เรื่องโซนนิ่งรอบสถานศึกษา)
2. โครงสร้างกรรมการ ให้มีคณะกรรมการระดับชาติชุดเดียว เพิ่มกรรมการ เช่น ภาครัฐ ท้องถิ่น ผู้ประกอบการ รณรงค์และกระจายอำนาจให้จังหวัด
3. มาตรการควบคุม ได้แก่
- ให้แสดงบัตรประชาชน ออกหลักเกณฑ์ตรวจสอบบุคคลที่มีอาการมึนเมาได้
- ให้ผู้ขายรับผิด ถ้าขายให้เด็กหรือคนเมาแล้วไปก่อเหตุ
- ห้ามขายโดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติเว้นแต่ยืนยันตัวตนผู้ซื้อและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
- ให้ออกข้อยกเว้นเพิ่มเติมกรณีห้ามขายหรือดื่มในสถานที่ราชการได้
4. โฆษณา ได้แก่
- เพิ่มข้อยกเว้นให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยหลักเกณฑ์นั้นต้องเป็นไปตามกรอบไม่ผ่อนคลายจนเกินไป
- ห้ามใช้ชื่อเสียงตนสื่อสารข้อมูลโดยแสดงชื่อ เครื่องหมายแอลกอฮอล์ ชักจูงใจ
- เพิ่มมาตรการควบคุม BRAND DNA และ CSR
5. บำบัดรักษาและฟื้นฟู เพิ่มให้ครอบคลุมถึงผู้มีปัญหาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ เพิ่มหน่วยงานและกลไกในการขอรับการสนับสนุนให้ชัดเจนมากขึ้น
6. เพิ่มอำนาจพนักงาน เจ้าหน้าที่ เพิ่มการเตือน เพิ่มโทษประเภทอื่น เช่น โทษทางปกครอง (เพิกถอน พักใช้ ปิดสถานที่ ระงับโฆษณา) โทษปรับเป็นพินัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คืบหน้าร่าง พ.ร.บ.เหล้า ฉบับใหม่ เข้าสภาฯ ธ.ค.67
- เวทีถก พรบ.เหล้า ฉบับใหม่ ห่วง! ภาคธุรกิจนั่งกก.ควบคุมฯร่วมกำหนดนโยบาย
- 32 views