อัปเดตร่าง พ.ร.บ.เหล้า ฉบับใหม่ ห้ามดื่มในสถานที่ห้ามขาย-เวลาที่ห้ามขาย คาดเข้าที่ประชุมสภาฯ พิจารณาทันสิ้นปีนี้

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จัดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2567 หัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่: ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน (New Alcohol Control ACT: Move the promises, fix the flaws)” 

โดยนพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช คณะกรรมาธิการวิสามัญพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาหัวข้อ วางกรอบทิศทางการควบคุมแอลกอฮอล์ในประเทศไทย: วิเคราะห์เชิงวิพากษ์กฎหมายใหม่ ว่า จากการประชุม สคอ. เรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ขณะนี้มี 5 ร่าง พรบ.ที่เข้าไปในการประชุม มีทั้งเข้มข้นขึ้น และผ่อนคลายในบางเรื่อง เช่น ยกเลิก ปว. 253 (ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253)

"การห้ามดื่มในสถานที่ห้ามขาย และในเวลาที่ห้ามขาย จะมีกฎหมายลูกประกอบอีกครั้ง เพราะเดิมไม่ได้ควบคุมการดื่ม เนื่องจากมีข้อถกเถียงเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และมีการพูดคุยเรื่องโซนนิ่ง เกี่ยวข้องกับเรื่องใบอนุญาต จะนำเรื่องโซนนิ่งรอบสถานศึกษามาอยู่ในกฎหมายลูกที่ประกอบ ส่วนเรื่องโครงสร้างจะเหลือคณะกรรมการใหญ่เพียง 1 ชุด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นรองประธาน และมีปลัดของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ส่วนสำคัญที่มีข้อถกเถียง ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตเลือก 1 คนเป็นตัวแทนจากองค์กร " นพ.นิพนธ์ กล่าวและว่า

ส่วนเรื่องมาตรการควบคุมก็มีพูดคุยกันเรื่องตู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในแง่ข้อเท็จจริง ใบอนุญาตขายสุราต้องมีผู้ที่ตั้งและจำหน่าย จึงต้องมีการยืนยันตัว เป็นตู้ที่อยู่ในร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่เดิม เพื่อตรวจสอบได้ว่า ผู้ซื้อมีอายุเท่าไหร่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโฆษณา แก้ไขให้ชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้นำเข้า กลุ่มผู้ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ในการรีวิว กลุ่มบุคคลทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องที่ถ่ายภาพและโพสต์ รวมถึงด้าน CSR ที่จะจำแนกให้มีมาตรการลงโทษที่แตกต่างกัน สำหรับการบำบัดฟื้นฟู เดิมจะพูดถึงผู้ที่ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ปัจจุบันใช้คำว่า ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นข้อสังเกตเพื่อให้ดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องในอนาคต 

"สำหรับการประชุมคาดว่า ธันวาคม 2567 จะแล้วเสร็จ และนำเข้าวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพิจารณาเสร็จ จะผ่านวุฒิสภาอีกชั้นหนึ่ง ไม่เกิน 60 วันจะประกาศใช้ โดยลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนกฎหมายลูกที่ใช้เป็นกฎหมายประกอบ ก็ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี" นพ.นิพนธ์ กล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- เวทีถก พรบ.เหล้า ฉบับใหม่ ห่วง! ภาคธุรกิจนั่งกก.ควบคุมฯร่วมกำหนดนโยบาย