รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน บริการ LAB Rider ตรวจเลือดถึงที่ 10 ตำบล ลดแออัด ลดค่าใช้จ่าย เผย ปชช.พึงพอใจไม่ต้องเสียเวลามารอเจาะเลือด พร้อมทำงานร่วม อสม. ประสานลงพื้นที่ เจาะเลือดผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้าน 
 
ภายหลังจากมีโครงการตรวจแล็ปใกล้บ้าน (LAB Anywhere) อำนวยความสะดวกประชาชนสิทธิบัตรทอง สู่บริการเจาะเลือดใกล้บ้าน (LAB Rider) ช่วยลดการรอคอย ลดแออัดในโรงพยาบาล เป็นโครงการที่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ในหลายพื้นที่  
 
เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน ที่นำโครงการ LAB Rider มาบริการช่วยประชาชนในพื้นที่ 10 ตำบล โดยนพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว  จ.น่าน  ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ว่า บริการเจาะเลือดใกล้บ้าน (LAB Rider) เป็นโครงการเชื่อมโยง LAB Anywhere ลดความแออัดของโรงพยาบาล ไม่ต้องรอมาเจาะเลือดตามแพทย์นัด โดยมีข้อดี ดังนี้  

1. ระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาล จากการรอคอยโดยเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 54 นาที ลดเหลือ 39 นาที 

2. ลดความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมารอคอยพร้อม ๆ กัน ที่ผ่านมา ผู้ป่วยต้องรีบมาโรงพยาบาลตั้งแต่เช้าเพื่อเจาะเลือด กระจายความแออัดให้ลดน้อยลง 

3. ลดค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาล โดยเฉลี่ยผู้ป่วยใช้เงิน 525 บาท ในการเดินทางมาโรงพยาบาล จากการเก็บข้อมูลพบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกที่สุดที่ใกล้กับโรงพยาบาลอยู่ที่ 150 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายจากที่ไกลสูงสุดประมาณ 900 บาท  

4. ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างมาโรงพยาบาล โดยพบว่า ประชาชนมีความเสี่ยงในการเดินทางทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ถูกชน หรือมอเตอร์ไซค์ล้ม 

5. เจาะเลือดให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง หรือไม่มีญาติมาส่ง ทางทีม LAB Rider จะเข้าไปเจาะเลือดให้ที่บ้าน  

"ในช่วงแรก โรงพยาบาลเริ่มจากกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานก่อน เพราะโรคเบาหวานจำเป็นต้องเจาะเลือดเป็นประจำ โดยยกทีมงาน แพทย์ พยาบาล นักเทคนิกการแพทย์ 6-7 คน ไปเจาะเลือดถึงชุมชน ครั้งละ 1 ตำบล ในแต่ละครั้งที่ออกหน่วย LAB Rider จะเจาะเลือดได้ 100 คน ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเท่านั้น ผู้ป่วยจะมาแค่วันนัดแพทย์เท่านั้น เพื่อฟังผลแล้วรับยากลับบ้านได้ โดยไม่ต้องรอคอย จากระบบเดิม ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน ตี 4-ตี 5 แต่ละคนใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลนาน 5-6 ชั่วโมง" นพ.กิติศักดิ์ กล่าวและว่า 

มอบรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองทุน อสม. แต่ละตำบล 

โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการเจาะเลือดจะนัดหมายล่วงหน้า ผ่านการประสานงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นัดผู้ป่วยมาตรวจเลือดพร้อมกันในพื้นที่ ซึ่งจะมีรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กองทุน อสม. แต่ละตำบล โดยคิดตามรายหัวของผู้มารับบริการ ซึ่งการดำเนินงานในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ขยายการบริการเพิ่มเติมจากเดิมมีแค่ผู้ป่วยเบาหวาน ได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงด้วย สอดคล้องกับระบบการนัดแพทย์แบบใหม่ที่ระบุเวลาอย่างชัดเจนว่า ต้องมาพบเวลาไหน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมารอตั้งแต่เช้า และเมื่อมาที่โรงพยาบาล พบแพทย์ตามเวลานัดแล้วก็กลับได้ โดยมีทีม Health Rider บริการส่งยาถึงบ้าน ส่งยาตามไปให้ไม่ต้องรอคอยยาที่โรงพยาบาล  
 
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าครึ่ง ผลเลือดค่อนข้างดี มักจะทานยาเดิม ก็เลยเพิ่มขั้นตอนให้แพทย์ดูผลเลือด หากไม่มีอะไรน่ากังวล ก็จะตรวจด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และให้ Health Rider ส่งยาให้ที่บ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่โรงพยาบาล 

ปชช.พึงพอใจ LAB Rider ลดแออัดใน รพ.

นพ.กิติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า โครงการ LAB Rider ตอนนี้ออกตรวจทุกวันศุกร์ โดยทำแผนครบ 10 ตำบล จากทั้งหมด 12 ตำบลในพื้นที่ ให้บริการครอบคลุมถึง 80% ของพื้นที่ ดูแลประชาชนได้เกือบทั้งอำเภอ โดยทีม LAB Rider จะตรวจเลือดให้กับทุกสิทธิ์การรักษาตามที่นัดหมายไว้ โดยโครงการ LAB Anywhere เบิกได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่ในทางปฏิบัติจริงเจาะให้ทุกคน ซึ่งมี 66% เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเบิกได้ในระบบ แต่สิทธิที่เหลือ โรงพยาบาลไม่ได้ทำเรื่องเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพราะต้องการลดความแออัด และลดภาระของผู้ป่วยและญาติ  

"สำหรับผลตอบรับ จากการสอบถามผู้มาใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2567 ประมาณ 720 กว่าคน ส่วนใหญ่พึงพอใจมากในการให้บริการ ด้านเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็รู้สึกดีกับโครงการ เพราะที่ผ่านมา ทุกเช้าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากมารอเจาะเลือด แต่ตอนนี้ลดน้อยลงมาก การบริการ LAB Rider จึงช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอคอยของผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ช่วยบรรเทาภาระให้ประชาชน" นพ.กิติศักดิ์ ทิ้งท้าย