งดเหล้าเข้าพรรษาลดปริมาณดื่มลงได้
การศึกษาร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยจาก University of Toronto โดยใช้ข้อมูลปริมาณการจำหน่ายแอลกอฮอล์รายเดือน ครอบคลุมช่วงเวลา 23 ปี (พ.ศ.2538 ถึง 2560) เป็นตัวแทนของข้อมูลการบริโภค พบว่า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยลดปริมาณการบริโภคของประชาชนในช่วงระหว่าง 3 เดือนของเข้าพรรษาลง 9.97%
การศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในชื่อ “The effect of an annual temporary abstinence campaign on population-level alcohol consumption in Thailand: a time-series analysis of 23 years” บนวารสาร BMJ Global Health ซึ่งเป็นวารสารวิชาการนานาชาติที่มีชื่อเสียงในสาขาสุขภาพโลก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา
งานวิจัยชี้มีผลลดดื่มได้จริง
งานวิจัยนี้มีจุดเด่นที่ใช้ข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ.2538 ถึง 2560 ซึ่งคาบเกี่ยวช่วงเวลาก่อนการมีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา (เริ่มใน พ.ศ. 2546) เนื่องจากพฤติกรรมการดื่มของคนไทยมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณต่ำอยู่แล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่ซ้อนทับกับช่วงเข้าพรรษา (ปกติจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม) การลดลงของปริมาณการดื่มในช่วงเข้าพรรษาจึงอาจถูกมองเป็นการแปรผันของปริมาณการดื่มตามฤดูกาล (seasonal variation) ได้
การใช้ข้อมูลตั้งแต่ก่อนมีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ทำให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบว่า การลดลงของปริมาณการดื่มในช่วงเข้าพรรษาในปีที่มีการรรณรงค์ แตกต่างไปจากการลดลงของปริมาณการดื่มช่วงเข้าพรรษาในปีที่ไม่มีการรณรงค์หรือไม่ การพบความแตกต่างเป็นการบ่งชี้ถึงผลของการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา
การวิจัยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลอนุกรมเวลา generalized additive models (GAM) พบว่า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของไทย ทำให้ปริมาณการดื่มลดลง 9.97% ในระดับประชากร ซึ่งถือเป็นการศึกษาชิ้นแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การรณรงค์เชิญชวนคนงดดื่มแอลกอฮอล์เป็นการชั่วคราว สามารถลดปริมาณการดื่มในระดับประชากรได้
การรณรงค์เชิญชวนคนงดดื่มแอลกอฮอล์เป็นการชั่วคราวมีการดำเนินการในหลายประเทศส่วนใหญ่เป็นการชวนงดดื่มเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยมีแคมเปญที่โด่งดังที่สุด คือ Dry January ซึ่งเริ่มต้นในประเทศอังกฤษและแพร่หลายไปในหลายประเทศ แคมเปญอื่นๆ ได้แก่ Dry July จากประเทศออสเตรเลีย และ ikPas จากประเทศเนเธอร์แลนด์ แคมเปญเหล่านี้เพิ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมการดื่มที่ลดลงในกลุ่มประเทศตะวันตก
ข้อมูลจากการศึกษาข้างต้นจึงสนับสนุนว่าการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาและแคมเปญในลักษณะเดียวกันจะช่วยสนับสนุนการลดปัญหาผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและสังคมได้จริง
อ้างอิง
Saengow, U., Patanavanich, R., Suriyawongpaisal, P., Aekplakorn, W., Sornpaisarn, B., Jiang, H., & Rehm, J. (2024). The effect of an annual temporary abstinence campaign on population-level alcohol consumption in Thailand: a time-series analysis of 23 years. BMJ Global Health, 9(7), e014428.
- 70 views