“สมศักดิ์” ออกโรงสอน อสม.ด้วยตัวเอง ให้ความรู้กินอย่างไร ลดโรคเอ็นซีดี ชี้ลดโรค ลดค่าใช้จ่ายสุขภาพ เงินที่ได้นำเข้ากองทุนในร่าง พ.ร.บ.อสม. ยังติดกรมบัญชีกลางประเด็นแหล่งเงิน ฯลฯ หารือร่วมรมว.คลัง จ่อประชุมเดือน พ.ย. มอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ติดตามเรื่องให้สำเร็จ
 
 
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดงานเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน เพื่อต่อสู้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พร้อมทั้งยังเปิดแบบฟอร์ม และสอนด้วยตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจให้อสม.เกี่ยวกับการลดโรคเอ็นซีดี 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  รัฐบาลมีนโยบายนำศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุขทุกภาคส่วน รวมถึง อสม. ในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease : NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม โดยจากงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ WHO ในปี 2562 ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตด้วย NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 9.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลทางตรง 1.39 แสนล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อมอีก 1.5 ล้านล้านบาท  ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเอ็นซีดีปี 2560 สูงกว่า 62,138 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 50% ของงบประมาณ สปสช.ปี 2560 

“อย่างเบาหวานเพิ่มปีละ 300,000 คนอันนี้ต้องหยุดให้ได้ ความดัน 14,000,000 คน  โรคไตกว่า 1 ล้านคน  มะเร็งอีก 4.4 แสนคน เป็นมะเร็งรายใหม่ 1.4 แสนคนต่อวัน ตายปีละ 83,000 คน  ซึ่งมะเร็งรวมถึงปัญหาที่เกิดจากบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้  การที่อสม.มาช่วยตรงนี้ไม่ใช่ว่าจะลดคนตายได้ทันทีแต่จะลดผู้ป่วยรายใหม่ได้เนื่องจากรายเดิมเค้าก็มีพฤติกรรมมาก่อนแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญภารกิจของ อสม.คือการให้ความรู้ประชาชน หรือครัวเรือนที่เราดูแลอยู่ โดยจะมีการยกระดับความรู้ลดโรคเอ็นซีดี เพื่อนำไปสื่อสานต่อ ดังนั้น จะเห็นว่า บุคลากรสำคัญที่จะลดคนป่วยหรือทำให้คนไม่ป่วยไม่น่าเชื่อว่าพระเอกนางเอกจะเป็น อสม. แต่หมอพยาบาลก็ยังเป็นหลักอยู่ เพียงว่างานนี้หากเราจะสร้างหนัง พระเอกนางเอกคือ อสม. ปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านคน  ซึ่งโดยเฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประชากรราว 50 คน ดังนั้น อสม.  1,080,000 คนคูณด้วย 50 ก็ประมาณ 50 กว่าล้านคน ถ้า 50 กว่าล้านคนเข้าใจเรื่องนี้จะลดโรคเอ็นซีดีได้

เมื่อคนไม่ป่วย เปรียบค่าประชาสัมพันธ์ลดเอ็นซีดี 5 พันล้านนำกลับเข้ากองทุนอสม.

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อ อสม. 1 ล้านกว่าคนเข้าใจก็จะนำไปสู่ความรู้ให้กับประชากรกว่า 50 ล้านคน ดังนั้นหากคิดเป็นค่าทำประชาสัมพันธ์คน 100 บาทกับ 50 ล้านคนก็เท่ากับค่าทำประชาสัมพันธ์ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้หากทำให้คนไม่ป่วยถือว่าคุ้มค่ามหาศาลแค่ไหน

”เรื่องนี้สำคัญ อย่างปัจจุบันสถิติหมอ 1 คนดูแลประชากร 950 คน เยอะเกินไปแล้วจากสถิติที่ควรอยู่าี่ 1 ต่อ 650 คน ดังนั้นเราต้องหยุดคนป่วยให้ได้ด้วยการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและเงินที่ลดได้จากการลดผู้ป่วย ก็ควรนำกลับมาให้ อสม. ซึ่งขณะนี้กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.อสม. ยังไม่เข้า ครม.เพราะติดอยู่ที่กรมบัญชีกลาง“ นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.อสม. ขณะนี้ติดอยู่ที่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากมีประเด็นเพิ่มเรื่องที่มาของแหล่งเงินทุน ที่จะตอบแทนลงไปที่ อสม. เพราะเมื่อไม่ป่วยก็ไม่ต้องรักษาไม่ต้องใช้เงิน เงินที่เหลือก็สามารถเอาไปให้กับ อสม.  เบื้องต้น คือจะนำไปใส่ไว้ในกองทุนที่เขียนไว้ในกฎหมายแต่จะบริหารอย่างไรขึ้นกับในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในร่าง พ.ร.บ. ต้องมีกรรมการในการบริหารกองทุน เนื่องจากกรมบัญชีกลางต้องการ  ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว และต้องมีกลไกการดำเนินงานให้ชัดเจน รวมถึงต้องมีการชี้แจงความกังวล เพราะบางหน่วยกังวล ว่า อสมจะทำงานที่อาจจะซ้อนกับภาครัฐอื่นรือไม่ จากปัจจัยเหล่านี้ จึงใช้เวลาไปเกือบ 6 เดือน เนื่องจากเรื่องนี้ยังต้องผ่านกระทรวงอื่นให้ความเห็นชอบด้วย 

“วันนี้ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ต้องเอ่ยขึ้นเพราะว่าตอนนี้ยังมีฉบับเดียวที่เสนอเข้าสู่สภา เพื่อรอร่างของกระทรวงขณะนี้ผมได้เข้าไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะประชุมเรื่องนี้ในช่วงสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สองของเดือนหน้า จึงขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ตามให้ด้วย เพราะผู้ใหญ่ได้คุยกันในระดับหนึ่งแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว

สมศักดิ์ สอนเอง "กินคาร์บ" อย่างไรให้ดีกับสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงวิธีให้ความรู้อสม. เพื่อนำไปสื่อสารรณรงค์ลดโรคเอ็นซีดี โดยแนวทางหนึ่งที่อยากให้อสม.ไปนำเสนอให้ประชาชนที่อยู่ในการดูแล คือ การคำนวณอัตราการเผาผลาญของร่างกาย(หรือการใช้พลังงาน) ขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ที่เป็นของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกา  ซึ่งเป็นการคำนวณปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรต หรือข้าวของแต่ละบุคคลในแต่ละวัน

โดยคำนวณจากอายุ ส่วนสูง น้ำหนัก  กิจกรรมทางกายในแต่ละวัน หรือเรียกว่า “กินคาร์บ” จะคำนวณออกมาได้เป็นปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่อวันที่เหมาะสมของแต่ละคน กำหนดเป็นทัพพีมาตรฐานที่ 15 กรัมต่อทัพพีหน่วยจะออกมาเป็น “คาร์บ” เช่น หากคำนวณได้ที่ 10 คาร์บหรือ 10ทัพพีมาตรฐานที่ 15 กรัม ก็ควรบริโภคคาร์โบไฮเดรคต่อวันไม่เกิน 10 คาร์บ เป็นต้น

 
“สูตรนี้คำนวณคาร์บนี้จะช่วยให้แต่ละคนรู้ว่าจะต้องรับประทานต่อวันเท่าไหร่จึงมีความเหมาะสม ไม่บริโภคเกินไป ซึ่งส่วนตัวผมใช้วิธีนี้มาแล้ว 2 เดือนลดน้ำหนักได้ 3 กิโลกรัม สมมติว่าคนกำลังจะเป็นเบาหวานอยู่  หากคำนวณคาร์บแล้วลดข้าว  กินให้พอดี  ก็จะลดโอกาสป่วยเป็นเบาหวานได้  สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่อสม.จะต้องนำไปสื่อสาร กินเป็นไม่ป่วย ไม่ใช่อด กินได้เต็มที่ เพียงแต่กินให้อยู่ในปริมาณที่คำนวณ และจะทำเป็นโปรแกรมแทนค่าต่างๆในโทรศัพท์มือถือเพื่อง่ายต่อการใช้งานด้วย ส่วนคนที่ไม่ป่วย ไม่กำลังจะป่วย  ไม่ได้อ้วน ก็กินไปเถอะ แต่คนที่จะป่วยแล้วต้องมาเข้าโปรแกรมนี้”นายสมศักดิ์กล่าว