สปสช. เผยผลสำรวจบัตรทองปี 67 ผู้ให้บริการพึงพอใจระบบฯ สูงถึงร้อยละ 94.47  พร้อมรับรู้และเข้าใจต่อสิทธิประโยชน์ตามนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่” มากที่สุดร้อยละ 91.38 ขณะที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพฯ ใน รพ. เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ผู้ให้บริการรับทราบมากที่สุด

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2567 พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นอกจากคำนึงถึงประชาชนในฐานะผู้รับบริการแล้ว สปสช. ยังได้ให้ความสำคัญต่อผู้ให้บริการ ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข กลุ่มวิชาชีพอื่น และผู้บริหารหน่วยบริการ ตลอดจนผู้รับผิดชอบงานประกันสุขภาพที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบฯ อันเป็นกลไกลสำคัญ ส่งผลให้การบริหารจัดการรวมถึงการพัฒนาระบบฯ ของ สปสช. บรรลุเป้าหมายได้ 

ดังนั้น ที่ผ่านมาการสำรวจความคิดเห็นต่อการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในส่วนของผู้ให้บริการควบคู่กับการสำรวจความคิดเห็นฯ ของประชาชนมาโดยตลอด รวมถึงในปีงบประมาณ 2567 ซึ่ง สปสช. ได้ดำเนินการ่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และได้นำเสนอผลการสำรวจต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในการประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งได้รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา

สำหรับการสำรวจความคิดเห็นฯ ผู้ให้บริการครั้งนี้ เป็นการสำรวจจำนวนกลุ่มตัวอย่างผู้ให้บริการจำนวน 7,228 คน ที่ทำงานอยู่ในหน่วยบริการในระบบฯ จำนวน 676 แห่ง กระจายในพื้นที่ 39 จังหวัดทุกเขตสุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 77.96 มีอายุระหว่าง 31–60 ปี ร้อยละ 77.88 อายุเฉลี่ย 40 ปี และส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 85.62 มีหน้าที่รับผิดชอบงานบริการโรงพยาบาล ร้อยละ 46.61 และมีระยะเวลารับผิดชอบงานระบบบัตรทอง ส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 54.07 

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า จากผลการสำรวจฯ ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่า ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจต่อภาพรวมการดำเนินงานระบบฯ เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจเฉลี่ยมากที่สุดอยู่ที่ 8.17 คะแนน เพิ่มจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่  8.08 คะแนน หรือเพิ่มขึ้น 0.09 คะแนน โดยร้อยละของจำนวนผู้ที่ให้คะแนนความพึงพอใจระหว่าง 7-10 คะแนน ของปี 2567 ได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 94.47 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 91.47 หรือได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.20

“จากการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ โดย สปสช. พบว่าผู้ให้บริการที่ให้คะแนนความพึงพอใจต่อภาพรวมการดำเนินงานระบบฯ ช่วงระหว่าง 7-10 คะแนน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้ให้บริการที่รับผิดชอบงานมาเป็นเวลา 1-5 ปี ส่วนมากให้คะแนนความพอใจในช่วง 7-8 คะแนน ขณะที่ผู้ให้บริการที่รับผิดชอบงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ส่วนมากจะให้คะแนนถึง 9-10 คะแนน” พญ.ลลิตยา กล่าว

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีอีก 6 ประเด็นที่ผู้ให้บริการให้คะแนนความพึงพอใจระหว่าง 7-10 คะแนนด้วยเช่นกัน  ได้แก่ ผลการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีต่อประชาชน อยู่ที่ 8.31 คะแนน สัดส่วนผู้ให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 88.41, ผลของการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีต่อผู้ให้บริการ อยู่ที่ 7.67 คะแนน สัดส่วนผู้ให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 77.53, นโยบายย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน อยู่ที่ 8.83 คะแนน สัดส่วนผู้ให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 90.03,

กรณีมีความจำเป็นต้องไปรับบริการที่สถานพยาบาลที่ไม่ใช่สถานพยาบาลตามสิทธิ ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว อยู่ที่ 8.80 สัดส่วนผู้ให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 91.68, นโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ 8.88 คะแนน สัดส่วนผู้ให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 92.13 และนโยบายรองรับบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ อยู่ที่ 8.51 สัดส่วนผู้ให้คะแนนอยู่ที่ร้อยละ 86.75 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการให้คะแนนความพึงพอใจของผู้ให้บริการนั้น 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.ระบบการตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Website สปสช, สายด่วน สปสช. 1330, Application สปสช., Line OA) 2.ระบบการตรวจสอบเอกสารหลักฐานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขหลังการจ่ายชดเชย และคุณภาพบริการ (Post Audit) และ 3.ระบบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ อย่างไรก็ดีในส่วนปด้านงบประมาณและการจ่ายชดเชยที่เป็นคำถามเฉพาะสำหรับผู้บริหารหน่วยบริการและผู้รับผิดชอบงานประกันสุขภาพ พบว่าระบบการส่งข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายและการคืนข้อมูลให้หน่วยบริการเป็นปัจจัยที่สงผลต่อความพึงพอใจ โดยเป็นสิ่งที่ สปสช. จะนำไปพัฒนาต่อไป


 
พญ.ลลิตยา กล่าวว่า นอกจากนี้ในการสำรวจความคิดเห็นฯ ได้สอบถามผู้ให้บริการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยด้านการรับรู้และเข้าใจต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในระบบฯ ผู้ให้บริการรับรู้สิทธิของผู้มีสิทธิบัตรทองตามนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่” มากที่สุดร้อยละ 91.38 ด้านการบริหารจัดการกองทุนของ สปสช. ผู้ให้บริการรับรู้กรณีหน่วยบริการต้องทำการยืนยันการรับบริการ (ปิดสิทธิ) หลังจากประชาชนรับบริการแล้ว มากที่สุดร้อยละ 85.22 และด้านการคุ้มครองสิทธิในการรับบริการ ผู้ให้บริการรับรู้ช่องทางการร้องเรียนมากที่สุด ร้อยละ 84.12 

ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นฯ ผู้ให้บริการต่อช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิบัตรทอง พบว่าศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) เป็นช่องทางที่ผู้ให้บริการรับทราบมากที่สุด ร้อยละ 96.58 รองลงมาเป็นสายด่วน สปสช. 1330 ร้อยละ 95.45 และเว็บไซด์ สปสช. (www.nhso.go.th) ร้อยละ 92.42 โดยเว็บไซด์ สปสช. นี้ยังเป็นช่องทางที่ผู้ให้บริการเคยใช้บริการมากที่สุด

 “จากข้อมูลที่สำรวจความคิดเห็นของผู้ให้บริการในระบบบัตรทองนี้ สปสช. จะนำไปวิเคราะห์เพื่อประกอบการปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และการดำเนินงานต่างๆ ในระบบ เพื่อให้ตอบสนองและตอบโจทย์การทำงานของผู้ให้บริการในการดูแลประชาชนในการเข้ารับบริการภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป” พญ.ลลิตยา กล่าว