ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสจ.เชียงราย ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หลังสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย พร้อมสรุปสถานการณ์กรณีผลกระทบพายุไต้ฝุ่น ทั้งระลอกแรก -ยางิ-ซูลิก รวมประชาชนรับผลกระทบกว่า 6.3 หมื่นครัวเรือน เสียชีวิตทั้งสิ้น 19 ราย จัดตั้งทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเยียวยาจิตใจ เฝ้าระวังและสอบสวนโรค ปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม  และกู้ชีพ ดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง     

 

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย(นพ.สสจ.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีคณะทำงานกลุ่มภารกิจต่าง ๆ เข้าร่วมเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและความสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน

นพ.วัชรพงษ์เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ ได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ตั้งแต่การเฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุ จนถึงการดูแลและฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ความห่วงใยยังคงอยู่

ศูนย์ฯ รายงานว่าได้มีการจัดตั้งทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน (ทีม MERT/miniMERT), ทีมปฐมพยาบาล, ทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT), ทีมเฝ้าระวังและสอบสวนโรค (SRRT/CDCU), ทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (SEhRT) และทีมกู้ชีพ เพื่อดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัย จำนวนการให้บริการกว่า 38,180 ครั้ง พร้อมสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จำเป็นกว่า 72,426 รายการ เช่น ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ยากันยุง ชุดทดสอบโรคฉี่หนู วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนบาดทะยัก หน้ากากอนามัย V Clean, EM Ball ชุดทำความสะอาด มุ้ง ฯลฯ

 

“ ขณะนี้ศูนย์ฯ ได้ปรับเปลี่ยนภารกิจสู่การฟื้นฟูอย่างยั่งยืน โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นหลังน้ำลด เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคฉี่หนู โรคระบบทางเดินอาหาร รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นพ.วัชรพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้  ยังได้ย้ำการสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ โดยขอให้ทีมงานดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม และการดูแลสุขภาพประชาชนและเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) เพื่อฟื้นฟูชุมชนให้ประชาชนกลับมามีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นพ.วัชรพงษ์ ยังขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น การทำความสะอาดที่พักอาศัย การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการรักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สสจ.เชียงราย ยังคงติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ความห่วงใยจากทีมสาธารณสุขจะยังคงอยู่เคียงข้างประชาชนในทุกย่างก้าว

ทั้งนี้ ในการประชุมศูนย์ฯ มีการสรุปสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม จ.เชียงราย กรณีได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น พบว่า เสียชีวิตจากพายไต้ฝุ่นระลอกแรกรวม 5 ราย พายุยางิ เสียชีวิต 13 ราย และพายุซูลิก อีก 1 ราย รวมเสียชีวิตทั้งสิ้น 19 ราย  ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากพายุไต้ฝุ่นระลอกแรก 7 ราย ยางิ 2,067 ราย และซูลิก 17 ราย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 63,491 ครัวเรือน