ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาสังคมไทย-สวิส ประสานเสียงให้รัฐบาลไทยเข้มแข็งในจุดยืนไม่รับทริปส์พลัส (TRIPS+) ใน EFTA หวั่นกระทบต่อการเข้าถึงยาและระบบบัตรทอง

 

 

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA WATCH) จัดทำข้อมูลเผยแพร่แก่สื่อมวลชน กรณีการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างกลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรียุโรป หรือเอฟต้า (EFTA) ซึ่งในสัปดาห์นี้ มีการประชุมระดับ เอฟต้า (EFTA) และประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในประเทศไทย ภาคประชาสังคมทั้งไทยและทางสวิตเซอร์แลนด์กังวลว่าประเทศไทยจะถูกกดดันให้ยอมรับเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพื่อให้การเจรจาสามารถปิดจบได้ตามที่รัฐบาลแพรทองธารตั้งไว้ ภายในปีนี้

 

การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและกลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรียุโรปหรือ “เอฟต้า” (EFTA) ที่ประกอบไปด้วยไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ดำเนินการเจรจามาแล้ว 10 รอบ ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาเป็นประเด็นที่มีการเจรจาต่อรองกันอย่างเข้มข้นและยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ โดยที่ผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยมีจุดยืนไม่ยอมรับข้อผูกมัดที่เข้มงวดเกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือ TRIPs Agreement (ความตกลงทริปส์) ขององค์การการค้าโลกและส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา  ในขณะที่กลุ่มประเทศเอฟต้าเรียกร้องให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มงวดเกินกว่าความตกลงทริปส์

 

หวั่นกระทบต่อการเข้าถึงยา-ระบบบัตรทอง

 

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย แสดงความกังวลว่า แม้ว่าคณะผู้แทนเจรจาไทยมีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองการเข้าถึงยาของประชาชนมาตลอด แต่การเดินทางมาประชุมของคณะผู้แทนเจรจาระดับรัฐมนตรีของฝ่ายเอฟต้าเพื่อมาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยอย่างไม่เปิดเผย เกรงว่าอาจจะมีการขอให้รัฐมนตรีสั่งการหรือกดดันผู้เจรจาฝ่ายไทยให้ยอมรับประเด็นที่มีผลกระทบรุนแรงต่อฝ่ายไทย

 

“เพราะกลุ่มประเทศเอฟต้าอาจใช้วิธีการเดียวกับที่เอฟต้าเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย โดยการเจรจาจบลงโดยมีเงื่อนไขเปิดช่องให้นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ส่งผลกระทบการเข้าถึงยากลับขึ้นมาทบทวนได้อีก ทั้งนี้งานวิจัยประเมินผลกระทบของความตกลงเอฟทีเอที่มีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบที่เอฟต้าเรียกร้องชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีความค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้น 25,000 ล้านถึง 72,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ถ้าประเทศไทยลงนามในความตกลงเอฟทีเอที่มีข้อผูกมัดในเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) และการขยายอายุสิทธิบัตร (Patent Term Extension)”

 

ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวอีกว่า “กลุ่มประเทศเอฟต้าควรหยุดเรียกร้องให้ไทยยอมรับข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ รวมถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดในการนำมามาตรการใช้สิทธิโดยรัฐหรือมาตรการซีแอลมาใช้ด้วย หรือแม้แต่จะให้มีเงื่อนไขเปิดช่องให้มีการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาใหม่อีก หลังจากการเจรจาสรุปและลงนามแล้ว”

นายแพทริก ดูริสช์ (Patrick Durisch) จากองค์กร Public Eye ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่เฝ้าระวังการเจรจาเอฟทีเอของสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเอฟต้ากับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ  ให้ความคิดเห็นว่า “แม้ว่าประเทศไทยปฏิบัติตามความตกลงทริปส์อย่างครบถ้วนแล้ว แต่กลุ่มประเทศเอฟต้า โดยเฉพาะประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่เป็นประเทศสมาชิกของเอฟต้าและเป็นที่ตั้งของบริษัทยาข้ามชาติหลายบริษัท ไม่ยอมหยุดการเจรจาเรื่องขอให้ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเอฟทีเอที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ เช่น การผูกขาดข้อมูลทางยา การขยายอายุสิทธิบัตร และการจำกัดการใช้มาตรการคุ้มครองด้านสาธารณสุข  ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เจรจาเอฟทีเอที่มีเงื่อนไขเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ (ทริปส์พลัส) กับประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมาตลอด เพื่อปกป้องกำไรของบริษัทยาของตัวเอง  รัฐบาลไทยควรยึดมั่นในจุดยืนที่จะไม่ยอมรับข้อผูกมัดที่จะมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายเพื่อคุ้มครองการสาธารณสุขของประเทศ”

 

ทางด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ได้ขอให้รัฐบาลแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากยามีราคาแพงขึ้นมหาศาล รัฐบาลไม่สามารถใช้กลไกตามกฎหมายในการเจรจาต่อรองหรือจัดหายาในราคาที่ถูกลงได้ “ผลงานที่พรรคเพื่อไทยปลุกปั้นมาตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคไทยรักไทย ที่นายกฯและพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญอย่างมาก จะกลายเป้นระบบที่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างแท้จริง และยังทำลายพื้นที่ทางนโยบายของรัฐบาลในการออกนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองประชาชน

ดังนั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ผู้เจรจาฝ่าไทยยืนยันในหลักการไม่เอาทริปส์พลัส ทั้งนี้ เอฟทีเอฉบับนี้มีความสำคัญกับทางเอฟต้าอย่างมาก อย่าให้ทางเอฟต้ามาขู่หรือกดดันเรื่องเวลาที่รัฐบาลอยากให้เจรจาจบสิ้นปีนี้ เพราะทางฝ่ายเอฟต้าก็ต้องการให้จบสิ้นปีนี้เช่นเดียวกัน รัฐบาลแพรทองธารต้องรู้เขารู้เรา

ในรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบของหลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย มีข้อเสนอแนะว่า “สนับสนุนให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อรักษาพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) ในการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมการเข้าถึงยา และปกป้องสิทธิเกษตรและรักษาทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศนำมาซึ่งประโยชน์ที่ยั่งยืนสำหรับทุกภาคส่วนของสังคม”