เผย! แนวโน้มระบบสุขภาพไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ในสังคมผู้สูงอายุ ที่มีเด็กเกิดน้อย โรงเรียนแพทย์ควรสร้างทักษะด้านใด ให้มีสมรรถนะร่วมเชิงบูรณาการ

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ฯ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2566 แพทยสภา - ปธพ.ครั้งที่ 10 โดยแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ขึ้น  ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อร่วมพัฒนาวงการแพทย์ และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเกียรติคุณ แก่นักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10 ที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 143 คน 

โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสภานายกพิเศษแพทยสภา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อ.วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และผู้อำนวยการหลักสูตร ปธพ. พร้อมด้วยนักศึกษา ปธพ.รุ่น 10 เข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษา และเยี่ยมชมบอร์ดนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาและมีกิจกรรมการนำเสนองานวิจัยของนักศึกษา ปธพ.รุ่นที่ 10 จำนวน 10 หัวข้อวิชาการอีกด้วย

ในหัวข้อที่ 5 โครงการศึกษาสมรรถนะร่วมเชิงบูรณาการ (Integrative core competencies) ของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อระบบ บริการสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนของกลุ่มวิชาการที่ 5 โครงการศึกษาสมรรถนะร่วมเชิงบูรณาการ (Intengrative Core Competencies) กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาระบบสุขภาพไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีการทบทวนวรรณกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมากกว่า 30 ชิ้น นำมาสังเคราะห์องค์ความรู้เบื้องต้น จากนั้นสัมภาษณ์กลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์ทั้งหมด 10 กลุ่ม เช่น นักวิชาการ ผู้บริหารภายในกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ นักศึกษาแพทย์ และคนไข้ ซึ่งจะชี้นำการพัฒนาในอีก 10 ปีข้างหน้า ไปสู่สมรรถนะหลักเชิงบูรณาการ ที่เป็นคุณลักษณะที่เกิดขึ้นจากความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ที่มีผลต่อการทำงาน 

แนวโน้มของระบบบริการทางการแพทย์ใน 10 ปีข้างหน้า สู่ความต้องการ "สมรรถนะหลักเชิงบูรณาการ (ICC)" ของบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย 

  1. สังคมผู้สูงอายุ 
  2. การมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในบริการทางการแพทย์
  3. การขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้ประโยชน์จริง : ยกระดับสุขภาพของประชาชนอย่างได้ผล
  4. ปัญหาภูมิอากาศและโรคระบาดขนาดใหญ่
  5. การดูแลสุขภาพเป็นสินค้าและโอกาสทางเศรษฐกิจ 
  6. ผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่การเป็น Smart Consumers
  7. การแพทย์เฉพาะบุคคล 
  8. สังคมเมือง
  9. การใช้และทำงานร่วมกันระหว่างศาสตร์ข้ามสาขา
  10. ปรากฏการณ์ความคิด ความเห็นแบบแบ่งขั้ว 

"จากแนวโน้มที่ศึกษามา 10 เรื่อง เรื่องที่เด่นอย่างสังคมผู้สูงอายุ ก็เป็นแนวโน้มสำคัญไปอีกเป็น 10 ปี เรื่องนี้มีความหมายมากกว่าการมีผู้สูงอายุเพิ่ม แต่หมายถึงเด็กรุ่นใหม่น้อยลง มีภาระของคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นด้วย โดยแนวโน้มเรื่องเด็กเกิดน้อยลงมีมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเป็นครอบครัวเดี่ยว ยังไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว และมีคนจำนวนหนึ่งมีลูกช้าลง ชะลอการมีบุตร แต่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการมีคนรุ่นใหม่น้อยเกินไป จะเป็นภาระกับคนรุ่นเดิมที่ต้องสร้างรายได้ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ต้องมีสมรรถนะที่สูงกว่าคนรุ่นเก่า เพื่อที่จะช่วยยกระดับ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ให้ผู้สูงอายุมีอาชีพรองรับ ให้มีแหล่งรายได้ด้วย"

"ส่วนปัญหาภูมิอากาศและโรคระบาดขนาดใหญ่ ก็เป็นประเด็นที่เป็นความเสี่ยงสำคัญ ปีนี้จะเห็นว่า ภูมิอากาศเพี้ยนมาก โรคต่าง ๆ ก็จะกลับมา เชื่อมโยงไปถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อีกหนึ่งแนวโน้มที่สำคัญ คือ สังคมเมือง ซึ่งเป็นทิศทางทั่วโลก ทำให้การดูแลลักษณะที่เป็นครอบครัว มีผู้ดูแลเป็นในครอบครัว อนาคตจะเกิดยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนเข้ามาอยู่ในเมือง ซึ่งมีโครงสร้างระบบสุขภาพในเมืองและชนบทที่แตกต่างกัน ในเมืองต้องพึ่งพาตัวเองเยอะตอนที่เจ็บป่วยไม่สบาย" รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มการแพทย์ในอนาคต รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ให้ความเห็นว่า อนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น ใช้ดิจิทัลมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็จะมีบทบาทมากกว่าคนขึ้นเรื่อย ๆ การจัดการดูแลด้านสุขภาพจะเป็นการข้ามวิชาชีพมากขึ้น ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม กระบวนการการดูแลที่เคยผูกขาดเป็นส่วน ๆ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ รวมถึงการมีการแพทย์เฉพาะบุคคล สมัยก่อนจะให้ยาหรือการรักษาต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์หรืองานวิจัย เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพ แต่ทิศทางในอนาคตจะใช้ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางพันธุกรรมมากขึ้น ลักษณะการใช้ชีวิต การวางแผนการดูแลสุขภาพจึงต้องปรับให้เข้ากับคนมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นทิศทางที่สำคัญ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่การเป็น Smart Consumers รู้มากขึ้น ค้นคว้าก่อนมาพบแพทย์ หาความรู้ เตรียมตัวมาก่อน บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องปรับตัว 

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ความคิด ความเห็นแบบแบ่งขั้ว ซึ่งเห็นในสังคมไทยและทั่วโลก และจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตด้วยนั้น รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า ความเห็นแบบแบ่งขั้ว เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองในประเทศ แต่คนมีแนวโน้มจะเชื่อตามที่ตัวเองเชื่อ ซึ่งมีอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย แต่ละคนก็จะได้รับแต่ข้อมูลที่ตัวเองเชื่อ โอกาสที่จะศึกษาอีกฝั่งหนึ่งก็น้อยลง ทำให้คิดว่าข้อมูลทั้งหมดมีเท่านี้ อย่างไรก็ตาม การเมืองระดับโลกก็ส่งผลต่อวิวัฒนาการทางการแพทย์เช่นกัน เมื่อประเทศต่าง ๆ ไม่คุยกัน ก็ส่งผลต่อทิศทางทางการแพทย์ เมื่อเลือกใช้เทคโนโลยีประเทศหนึ่ง อาจไม่สามารถใช้เทคโนโลยีอีกประเทศหนึ่งได้ การแพทย์ในอนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงผลักดันเหล่านี้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมโยงไปยัง สมรรถนะหลักเชิงบูรณาการ ซึ่งมีทั้งหมด 12 เรื่อง ได้แก่

  1. จริยธรรม และธรรมาภิบาล 
  2. การสื่อสารด้วยความเข้าใจ
  3. ผู้รับผลงาน และสุขภาพเป็นศูนย์กลาง
  4. การประสานความร่วมมือ 
  5. การคิดเชิงวิเคราะห์
  6. ความเป็นผู้นำด้วยความรับผิดชอบ
  7. ความรอบรู้ทางดิจิทัล
  8. ความเป็นมืออาชีพ
  9. การดูแลจัดการตนเอง
  10. ความยืดหยุ่น
  11. การประยุกต์หลักเศรษฐกิจพอเพียง
  12. ตอบแทนสังคม

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาในครั้งนี้ จึงนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาเรื่องข้อเสนอ ไปทบทวนว่า จะนำเข้าไปสู่กระบวนการพัฒนาอย่างไร โรงเรียนแพทย์ คณะแพทย์ฯ ควรพิจารณาว่า จะสร้างทักษะหรือสมรรถนะให้กับแพทย์รุ่นใหม่ได้อย่างไร และควรเตรียมตั้งแต่มัธยมศึกษาในรุ่นต่อ ๆ ไป ที่จะมาเรียนเป็นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “หมอชลน่าน” เผย 9 ปัจจัยมีผลต่ออนาคตสุขภาพปี 2575 ชูนโยบาย 10 Quick Win ครอบคลุมมิติสุขภาพ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org