อาลัย “นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร” วัย 91 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน จ.น่าน ได้จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2567
เพจเสน่ห์น่านวันนี้ แจ้งกำหนดการบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจ ณ ศาลาวัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2567 พิธีรดน้ำศพ เวลา 13.00 น.
วันที่ 14-18 ตุลาคม พ.ศ.2567 แสดงพระธรรมเทศนา และพิธีสวดพระอภิธรรม เวลา 19.30 น.
วันที่19 ตุลาคม พ.ศ.2567 พิธีฌาปนกิจ เวลา13.00 น.ณ ฌาปนสถานลอมเชียงของ อ.เมืองน่าน จ.น่าน
สำหรับ “นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร” เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 เกิดที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในจังหวัดลำปาง เข้ามาศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2501
นพ.บุญยงค์ เริ่มเข้ารับราชการเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนถึงปี 2502 ได้ย้ายไปประจำโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร และจังหวัดเลย กระทั่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร และมีการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายบ่อยครั้ง
นอกจากการใช้ความรู้ความสามารถในด้านเวชปฏิบัติ เอาใจใส่ดูแลรักษาประชาชนผู้ป่วยทางเวชกรรมทั่วไปอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ไม่เลือกเวลา เวรยาม และไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแล้ว นพ.บุญยงค์ ยังเป็นแพทย์ชำนาญทางศัลยกรรมที่มีฝีมือเยี่ยมอีกด้วย ในเขตอันตรายจากผู้ก่อการร้าย เช่นจังหวัดน่านนั้น โรงพยาบาลต้องปฏิบัติการผ่าตัดฉุกเฉินแก่ตำรวจ ทหาร และพลเรือนอาสาสมัคร ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะสู้รบอยู่เป็นประจำ
นพ.บุญยงค์ ไม่เคยเหนื่อยหน่ายต่อหน้าที่แม้แต่น้อย ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ให้แก่การผ่าตัดรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยโดยการลงมือด้วยตนเอง ให้การเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดอย่างเสมอต้นเสมอปลายทุกครั้งคราวไปจนเป็นที่อบอุ่นใจแก่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ถึงกับได้รับขนานนามว่า “ผู้พิทักษ์ยุทธภูมิ” ทางด้านประชาชนทั่วไปก็ได้รับความเคารพ ความชื่นชมและความร่วมมือเป็นอย่างดี จนเป็นที่กล่าวขานของประชาชนว่า เป็น “ขวัญใจของคนยากไร้”
จนปี 2552 โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริฯ เริ่มเข้ามาในพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบจังหวัดแรกของประเทศไทย เนื่องจากมีความสำคัญในฐานที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน แน่น้ำยม มีปริมาณน้ำที่ร้อยละ 45 ที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพการเกษตร มีพื้นที่ราบเพียง 45% ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อที่ป่าและภูเขา จึงทำให้เกิดการบุกรุกเข้าทำกินในพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่ง “ฟองน้ำ” สำหรับซับน้ำเกิดสภาพบกพร่อง นพ.บุญยงค์ จึงได้เข้าไปเป็นกำลังสำคัญในโครงการพัฒนาจังหวัดน่านนี้ ในตำแหน่งประธานคณะทำงานภาคประชาชน โครงการปิดทองหลังพระฯ และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสถาบันปิดทองหลังพระฯ
(ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก รักษ์ป่าน่าน www.rakpanan.org และเพจ เสน่ห์น่านวันนี้ )
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าของ นพ.บุญยงค์ กับพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 เกิดในปี 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมทหารที่กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ที่เชียงกลาง ในคราวนั้นเล่ากันว่ามีนายทหารเข้ามากราบบังคมทูลฯ ว่า มีทหารถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส นำตัวออกจากแนวหน้าไม่ได้ พระองค์ก็เลยเสด็จขึ้นเฮลิคอปเตอร์ พร้อมสมเด็จพระราชินี นายทหารที่โดยเสด็จ ก็ต้องคุ้มกันกันอุตลุด ก็นำทหารที่บาดเจ็บออกมาได้
นพ.บุญยงค์ “ผมจำได้แม่นยำ ชื่อ พลฯ บิน มาลิกา ถูกยิงไส้ไหล และที่โคนขา เสียเลือดมาก เดิมจะส่งตัวไปรักษาที่ รพ.พระมงกุฎ แต่ไม่ไหวต้องมารักษาที่ รพ.น่านก่อน ”
หลังเสด็จพระราชดำเนินได้ให้ สมุหราชองครักษ์ พล.ร.อ. ม.จ. กาฬวรรณดิศ ดิศกุล นำหนังสือจากสำนักงานสมุหราชองครักษ์ แจ้งว่าในหลวงทรงพอพระราชหฤทัยกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ รพ.น่าน และมีพระประสงค์ที่จะสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ และความต้องการอื่น
นพ.บุญยงค์ “เราก็กราบบังคมทูลฯไปว่ามีอะไรบ้างที่เราขาดแคลน ทั้งเครื่องมือแพทย์ และการขยายอาคารเพื่อรับผู้บาดเจ็บ”
หลังจากนั้นในหลวงก็ทรงมาเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากการสู้รบที่ รพ.น่านอีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2511 สิ่งของพระราชทาน ได้แก่เครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ เครื่องดูดเลือดและน้ำจากปอด เครื่องรมยาสลบ เครื่องปรับอากาศ ประดิษฐานอยู่บนโต๊ะ ยังความปลาบปลื้มให้กับหมอหนุ่ม แต่ที่เหนืออื่นใด เมื่อพระองค์ท่านพระราชทานสิ่งของให้แล้วก็ตรัสว่า
“ เงินที่ขอไปนั้น ฉันนำมามอบให้แล้ว ขอให้หมอดำเนินการก่อสร้างเองนะ ไม่ต้องผ่านราชการ ฉันไว้ใจเธอ”
นพ.บุญยงค์ เล่าว่า “คำว่า ฉันไว้ใจเธอ ใครได้ฟังแล้วจะรู้สึกอย่างไร ท่านเป็นกษัตริย์ เราเป็นหมอบ้านนอก โอ้โฮ ใจเราในเวลานั้น เมื่อพระองค์ท่านรับสั่งแบบนี้ ย่อมมีผลต่อการทำงานต่างๆ มากมายโดยไม่อาจบิดพลิ้ว“
นายแพทย์หนุ่มยังมีอันต้องสะดุ้งใจซ้ำเป็นคำรบสอง เมื่อทรงกำชับว่า “สร้างเสร็จแล้วให้บอกด้วยนะ จะมาเปิด”
น.พ.บุญยงค์ “ ยิ่งสะดุ้งมากขึ้นเพราะผมขอพระราชทานเงินไปสองแสนสี่ เพื่อใช้ต่อเติมอาคารไม้ให้รองรับผู้ป่วยได้อีก 20-25 คน เอาแค่พอใช้ได้ ไม่ได้คิดว่าจะทาสีด้วยซ้ำไป แต่พอพระองค์ท่านบอกว่าจะมาเปิด โอ้โฮ นึกไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไร”
แต่ปัญหาทั้งมวลก็ลุล่วงไปได้ด้วยความช่วยเหลือของคนไข้รายหนึ่ง “คนไข้ที่เราดูแลเขามาพบ พาลูกชายมาด้วยชื่อ ทองจุล สิงหกุล เป็น ผอ. กรมโยธาฯ พอถามว่า คุณหมอมีอะไรให้ช่วยเหลือก็ขอให้บอก
ผมบอกเลยว่ามีแน่ครับ ผมได้เงินพระราชทานมาขยายอาคาร ต้องเขียนแปลน ตอนนี้จะทำเป็นไม้แค่พอใช้ไม่ได้แล้ว เขาก็ช่วยเหลือเรื่องแบบ หาช่างรับเหมามาทำให้อย่างดีเลย ยิ่งรู้ว่าเป็นเงินพระราชทาน ผู้รับเหมาถึงขนาดควบคุมดูแลการก่อสร้างอย่างดี”
ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างก็ได้ขอพระราชทานนาม ได้รับพระราชทานนามอาคารใหม่ว่า “พิทักษ์ไทย” เป็นอาคารที่ใช้รองรับผู้บาดเจ็บจากการสู้รบต่อเนื่องมาอีกหลายปี
คัดลอกมาจากหนังสือ ฅ คนฉบับ ๘๐ พรรษา พระราชาเหนือนิยาม เดือนธันวาคม 2550
- 4762 views