อย. เผยสาระสำคัญร่างกฎกระทรวงฯ ขออนุญาตผลิต ครอบครอง  “กัญชากัญชง”  4 กรณี พร้อมให้สิทธิบุคคลทั่วไป และภาคเอกชน จากเดิมแค่ภาครัฐ

 

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า  ตามที่ ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และให้ส่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายลูกที่ออกตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เนื่องจากสารสกัดกัญชากัญชงที่มีสารTHC เกิน 0.2 % ยังเป็นยาเสพติด 

กฎกระทรวงฉบับนี้จะกำหนดเรื่องการขออนุญาต ให้บุคคลทั่วไป และเอกชนสามารถดำเนินการได้  จากเดิมที่กำหนดเฉพาะให้หน่วยงานของรัฐ รวมถึงวัตถุประสงค์เดิมใช้ในทางการแพทย์ การวิจัย ฉบับนี้ก็เพิ่มใช้ทางอุตสาหกรรมเข้ามาให้มีความชัดเจนมากขึ้น เท่ากับกฎกระทรวงฉบับนี้มีบทบาทในการส่งเสริมภาคธุรกิจด้วย เพราะจะมีแนวทางพิจารณาการอนุญาตแยกอย่างชัดเจนระหว่างสารสกัดที่ THC เกินและไม่เกิน 0.2 %

ในส่วนของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง อาหาร มีความชัดเจนขึ้นว่าสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ สนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตามกฎหมายเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น พ.ร.บ.อาหาร ,พ.ร.บ.เครื่องสำอาง และพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ ไม่สะดุดในแง่ของอุตสาหกรรม 

“จะมีที่เป็นความลังเลกรณีที่สารสกัดมี THC เกิน 0.2 %จะใช้อย่างไรนั้น ตอนนี้ก็ชัดเจนว่าส่วนนี้เป็นยาเสพติด แต่ก็ยังขออนุญาตในการใช้ประโยชน์ได้ โดยจะมีการขออนุญาตและควบคุมแบบยาเสพติดประเภท 5 ”นพ.สุรโชคกล่าว 

ร่างกฎกระทรวงฯ “กัญชากัญชง” ออกใบอนุญาต 4 กรณี

สำหรับสาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงนี้ อาทิ ในเรื่องการขออนุญาต กำหนดให้การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งสารสกัดจากพืชกัญชากัญชง จะพิจารณาออกใบอนุญาตเฉพาะ 4 กรณี คือ

1.เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์

2.เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม

3.เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์

4.เพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

ลักษณะผู้ขออนุญาต

ส่วนลักษณะของผู้ขออนุญาต ได้แก่

บุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี

นิติบุคคล จดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51 % ของจำนวนหุ้งทั้งหมด

วิสาหกิจชุมชน

หน่วยงานของรัฐ

สภากาชาดไทย

สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์