ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอจิรวรรณ- หมอทวีศักดิ์-หมอวัชระ”  3 แพทย์ รับรางวัล “แพทย์ดีเด่นแพทยสภา” ประจำปี 2567 ด้านกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มอาจารย์แพทย์ และกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน  

 

แพทยสภาจัดงานครบรอบ 56 ปีแพทยสภา และพิธีมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นแพทยสภา ประจำปี 2567 ที่ชั้น 15 อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยแพทย์ดีเด่นแพทยสภา ประจำปี 2567 ที่ผ่านการคัดเลือกประกอบด้วย 3 ท่าน คือ

1.แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์ แพทย์ดีเด่นกลุ่มผู้บริหาร

2.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี แพทย์ดีเด่น กลุ่มอาจารย์แพทย์

3.นายแพทย์วัชระ เอี่ยมรัศมีกุล แพทย์ดีเด่น กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน

โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เป็นประธานในพิธีและผู้มอบรางวัลแก่แพทย์ดีเด่น  

แพทยสภา เผยแพร่คุณสมบัติที่ได้รับการยกย่อง

ทั้งนี้ แพทยสภา จัดทำคุณสมบัติดีเด่นที่ได้รับการยกย่องฉบับย่อ ของแพทย์ดีเด่นทั้ง 3 ท่าน ดังนี้

1.แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์  แพทย์ดีเด่นกลุ่มผู้บริหารปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี

คุณสมบัติเด่นที่ควรได้รับการยกย่องและผลงาน อาทิ  ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผอ.รพ.ชลบุรี เป็นผู้บริหารที่วิสัยทัศน์กว้างไกล มีความสามารถด้านบริหารอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด19 ในประเทศไทยและจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงติดอันดับต้นๆ   ได้ใช้ความเป็นผู้นําที่เข้มแข็งนําบุคลากรสาธารณสุขทั้งใน รพ.ชลบุรี  ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งสามารถฝ่าฟันวิกฤติไปได้ด้วยดี  จัดตั้งทีมบริหารจัดการที่เรียกว่า EOC Chonburi hospital is living organization ที่ส่งผลทำให้สามารถ ฝ่าวิกฤติได้ด้วยดี

ยกตัวอย่าง จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาด  และเพื่อให้บุคลากรทํางานอย่างปลอดภัย ได้รับความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดการระบบอากาศในรพ.ชลบุรี ให้ปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย โดยสร้างหอผู้ป่วยที่มีระบบอากาศ Airborne infection isolation room ใน Cohort ward / Isolate room / Cohort ICU ได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ต่อ 1 ward และประหยัดและปลอดภัย

ปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งเป็นผอ.รพ.สระบุรี มีความมุ่งมั่นพัฒนาหน่วยงาน กำหนดนโยบายแผนยุทธศาสตร์และวางแผนสอดคล้องกับหลักยุทธศาสตร์ขององค์กร  และเมื่อมารับงานโรงพยาบาลสระบุรีมีปัญหาการเงินติดลบถึง 250 ล้านบาท ได้ตรวจสอบรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาลด้วยตนเอง ดำเนินการจัดระเบียบรายรับ-รายจ่าย งบพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบ กำหนดให้เรียกเก็บเงินจาก สปสช.อย่างเป็นระบบถ้าเกิน 60 วัน ไม่ได้ก็จะมีระบบติดตาม มีการปรับเปลี่ยนรายการบัญชียา ปรับลดงบประมาณ โดยรับฟังข้อมูลทุกเหตุผล หากทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยหรือเป็นการเร่งด่วนก็จะอนุมัติทันทีจึงสามารถแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ฐานะขององค์กรดีขึ้นมาก

 

2.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี แพทย์ดีเด่น กลุ่มอาจารย์แพทย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

คุณสมบัติเด่นที่ควรได้รับการยกย่องและผลงาน อาทิ

              ด้านการเรียน การสอน 

              อุทิศตนเป็นครูแพทย์ที่ดีอย่างต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 30 ปี จัดให้มีระบบการเรียนการสอนสําหรับแพทย์ทุกระดับ ที่คลินิกโรคตับ ร่วมดูแลผู้ป่วยพร้อมกับอาจารย์แพทย์ จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีแพทย์จากต่างสถาบันมาศึกษาดูงานโดยตลอด

              ด้านบริการทางการแพทย์

              พัฒนาระบบการช่วยให้บริการผู้ป่วยทุกระดับอย่างเสมอภาค ปรับปรุงให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่รวดเร็วตามระยะเวลาที่ได้นัดหมายเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วย จัดให้มีคลินิกโรคตับเป็นคลินิกเฉพาะโรค   แบบองค์รวมแห่งแรกในประเทศไทย ในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มารับบริการอย่างสม่ำเสมอ

              ด้านวิชาการทางการแพทย์ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

              ริเริ่มงานประชุมแพทย์ทางเดินอาหารสัญจรเพื่อนําความรู้ทางด้านโรคทางเดินอาหารและตับ ออกไปสู่ภูมิภาคโดยได้จัดประชุมอย่างสม่ำเสมอปีละ 2-3 ครั้ง บรรยายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ครั้งต่อปี เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและตับที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ นําความรู้สู่สากลเป็นการเผยแพร่เกียรติภูมิของประเทศไทย เป็นกรรมการสมาคมวิชาชีพในต่างประเทศมากมาย เป็นเลขาธิการ การประชุมนานาชาติ เป็นประธานจัดประชุมนานาชาติ เป็น President Asian Pacific Digestive Week Foundation (APDWF) พ.ศ. 2566-2568 ที่เป็นองค์กรวิชาชีพด้านโรคระบบทางเดินอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิกและเป็น 1 ใน 3 ขององค์กรวิชาชีพด้านโรคทางเดินอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

          นอกจากนี้ ยังมีด้านการส่งเสริมสุขภาพและงานป้องกัน   ด้านงานวิจัย ฯลฯ

 

3.นายแพทย์วัชระ เอี่ยมรัศมีกุล แพทย์ดีเด่นกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด

คุณสมบัติเด่นที่ควรได้รับการยกย่องและผลงาน อาทิ

  1. เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาล จนผ่านการรับรองจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) พัฒนาคุณภาพบริการของเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอพนมไพรอย่างเป็นระบบต่อเนื่องจนได้รับการรับรองคุณภาพเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation – DHSA) เป็นแห่งแรกของจังหวัด
  2. ดำเนินโครงการ “โรงพยาบาลพนมไพร โรงพยาบาลคุณธรรม” และโครงการยกวัดมาไว้โรงพยาบาล เพื่อพัฒนายกระดับมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคลากรและผู้รับบริการให้มีที่พึ่งทางใจและมีโอกาสปฏิบัติธรรม
  3. พัฒนาระบบการป้องกันควบคุมโรคมะเร็งอย่างเป็นระบบและครบวงจร ได้ขยายบริการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้ได้รับรางวัลบริการสาธารณะยอดเยี่ยมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Public Service Awards) ประจำปี พ.ศ. 2561 และรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
  4. พัฒนายุทธศาสตร์ “กำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จนได้รับการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2559 – 2568
  5. ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จนเกิดโครงการด้านสุขภาพหลายโครงการ และเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการพระกรุณาธิคุณเฝ้าระวังโรคมะเร็งสำหรับประชาชน ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ภายใต้ชื่อโครงการพระกรุณาธิคุณเฝ้าระวังโรคมะเร็งในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
  6. เป็นผู้บุกเบิกศูนย์พึ่งได้เพื่อเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และพัฒนาระบบบริการ Referral System for Safe Abortion
  7. ริเริ่มโครงการ Learning at the Workplace by Distant Education ณ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเปิดหลักสูตร Master of Public Health ภาคภาษาอังกฤษ ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย