ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอยงยุทธ” เสนอ 3 ประเด็นเรียนรู้ ร่วมใจหาทางออกการสูญเสียจากเหตุ “รถบัสไฟไหม้” ชี้ทัศนศึกษายังจำเป็น แต่จะทำอย่างไรให้ก่อประโยชน์ และปลอดภัย

 

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  จิตแพทย์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์ ได้เขียนบทความผ่านเฟซบุ๊กกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้รถทัศนศึกษา ว่า

จากเหตุการณ์เศร้าสลดที่ทำให้เราสูญเสียเด็กและครูไปถึง 23 ชีวิตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 สร้างความรู้สึกสะเทือนใจ ขณะนี้ ยังส่งผลให้มีความพยายามจากทุกฝ่ายที่จะหาทางออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก สังคมไทยจึงได้เรียนรู้และร่วมใจกันหาทางออกกับการสูญเสียครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง บทความนี้ ขอเสนอ 3 ประเด็น คือ

1. การดูแลผู้สูญเสีย

2.ท่าทีของสังคม

3.นอกจากความปลอดภัย ทัศนศึกษาอย่างไรได้ประโยชน์สุด

 

การดูแลผู้สูญเสีย

ทั้งครอบครัวผู้สูญเสียและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่กลายเป็นบาดแผลทางใจต่างได้รับการดูแลทั้งด้านสุขภาพจิต และการชดเชยช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและสนับสนุนการปรับตัวเพื่อให้สามารถเดินหน้าชีวิตได้ต่อไป ที่สำคัญคือครอบครัวและชุมที่จะเป็นกำลังใจและพลังสนับสนุนต่อเนื่องต่อไป แม้จะผ่านเรื่องราวที่เป็นข่าวไปแล้วก็ตาม

 

ท่าทีของสังคมต่อผู้สูญเสีย

มีการแสดงออกอย่างหลากหลายในสื่อหลักและสื่อสังคมต่างๆ จากความรู้สึกเศร้าสลดใจ ที่สำคัญคือการแสดงความเสียใจกับครอบครัว รวมทั้งแสดงน้ำจิตน้ำใจในการส่งความปราถนาดีและอุทิศส่วนบุญไปตามหลักศาสนาของตน ซึ่งก็เป็นผลดีต่อจิตใจทั้งจากเราเองและกับผู้สูญเสีย

 

​อย่างไรก็ตามไม่ควรสร้างความรู้สึกที่รุนแรง ซึ่งคงไม่เหมาะกับบรรยากาศสังคม โดยเฉพาะภาพที่สร้างความสะเทือนใจหรือเร้าอารมณ์และการกล่าวหาความผิดกับบุคคลต่างๆ (คนขับ บริษัท โรงเรียน ผู้ปกครอง ฯลฯ) เพราะถ้าเป็นส่วนที่เป็นปัญหาทางกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ที่สูญเสียก็จะไม่รู้สึกถูกซ้ำเติม ที่สำคัญกว่าคือ การหาทางออกเชิงระบบที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องอีก

 

นอกจากความปลอดภัย ทัศนศึกษาอย่างไรได้ประโยชน์สูงสุด

การป้องกันที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันคือการทบทวนระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของรถโดยสารที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่าผลสะเทือนครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบครั้งใหญ่ในการแก้ไขจุดอ่อนต่างๆของบ้านเราการป้องกันคือการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา ที่บางคนอาจรู้สึกรุนแรงจนขอให้ยกเลิกไปเสียเลย

 

ทัศนศึกษายังจำเป็น แต่จะทำอย่างไรให้ก่อประโยชน์ และปลอดภัย

แต่สำหรับคนในวงการศึกษาแล้ว การเรียนรู้นอกโรงเรียน(ที่การทัศนศึกษาเป็นส่วนหนึ่ง) ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเยาวชน ทั้งนี้ นอกจากความปลอดภัยแล้ว ที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้การเรียนรู้นอกโรงเรียน (รวมทัศนศึกษา) ได้ประโยชน์สุด ในฐานะผู้สนใจในการศึกษา ขอเสนอดังนี้

1) การเรียนรู้นอกห้องเรียนควรควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในห้องเรียนตามหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง จึงควรจัดในรูปแบบ ไปเป็นชั้นเรียน (class based) มากกว่าที่จะเป็นการจัดทั้งโรงเรียน เพราะจะได้ประโยชน์กับการเรียนรู้ตรงตามวัตถุประสงค์

2) แหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนควรอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่าย ประหยัด ปลอดภัย รวมทั้งมีส่วนร่วม จากพ่อแม่อาสา

3) ในพื้นที่ควรร่วมกันทั้งฝ่ายการศึกษา ท้องถิ่น จังหวัด และภาคเอกชน ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ในจังหวัด เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ รวมทั้งปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่แล้ว เช่น พิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑ์ชุมชน ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ ฯลฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และโรงเรียนเองก็ควรให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้แบบนี้เป็นอันดับแรก

4) ประโยชน์ของแหล่งเรียนรู้จะสูงสุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แบบไฝ่รู้และสร้างสมรรถนะ (active and competency based learning) ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคม ภาษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยแหล่งเรียนรู้นั้นควรอยู่ใน หรือรอบๆสถานศึกษา เพราะจะทำให้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้ง่าย และตรงกับสมรรถนะ ที่จะพัฒนาขึ้น

จึงถึงเวลาที่เราควรจะพิจารณาเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้การเรียนรู้นอกโรงเรียน รวมทั้ง ทัศนศึกษาไม่เพียงแต่ปลอดภัย แต่เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย