ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” ชูปี 68 ลดโรคเอ็นซีดี ดันเป็นกฎหมาย เล็งจูงใจมาตรการทางภาษี พร้อมเคลื่อน แผนปรับปรุงบ้านพักบุคลากรหวังใช้งบเงินกู้กองกองฉลากและโครงการ PPP ด้าน รมช.สธ.ของบกลาง100 ล้านผลิตหมอนวดไทย กระจายทั่วประเทศพร้อมส่งออก สร้างชื่อเสียงให้ไทย

เมื่อวันที่ 26 กันยายน  ที่สถาบันบำราศนราดูร  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายเดชอิศม์  ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2567  พร้อมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม 

ขอบคุณ "หมอชลน่าน" สานงานต่อ พร้อมรุกงานใหม่

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนมาทำงานเป็นรมว.สาธารณสุข 2 รัฐบาล ประมาณ 120 วัน ทั้งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  โดยการทำงาน 120 วันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการทำงานกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข มีแต่คนเก่งและมีความรู้ความสามารถ ตนเติบโตขึ้นมาก็มีความศรัทธาในแพทย์หมออยู่แล้ว

“ต้องขอบคุณรัฐมนตรีสธ. คนก่อน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่ได้ทำงานเอาไว้ก่อนแล้ว  ตอนนั้นผมเป็นรองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขและเมื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการสานต่องานต่างๆและเริ่มงานใหม่ใหม่ขึ้น เช่น  โครงการพาหมอไปหาประชาชนที่ให้บริการประชาชนจำนวนมากในการดูแลรักษาโรคเฉพาะทาง มีคลินิกเฉพาะทางจำนวนมาก ซึ่งก็จะเป็นไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละพื้นที่ โดยโครงการนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายประชาชนเข้าถึง 1,800,000 กว่าคน และยังมีการยกระดับ โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่” นายสมศักดิ์ กล่าว 

สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร เดินหน้าแยกตัวออกจาก ก.พ.

ในเรื่องของบุคลากรนั้น มีการดำเนินการมากมาย ร่างพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำขึ้นมาเนื่องจากต้องมองว่าจากการทำงานที่ดีของบุคลากรแต่เค้าได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ภาระงานมากเกิดปัญหาสมองไหล จึงมองว่าน่าจะมีร่างกฎหมายขึ้นมาดูแลเฉพาะ ยกตัวอย่างพยาบาล 1 คนต้องทำงานเสมือน 2-5 คน ที่ผ่านมา เราได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อดูในเรื่องของอัตราตำแหน่งการกระจายตัวที่เหมาะสมการกำหนดภาระงานค่าตอบแทนที่ตรงกับความเป็นจริงโดยไม่เป็นภาระของงบประมาณประเทศ  

“ร่างพ.ร.บ.นี้ไม่น่าจะติดอะไรดูจะไปฉลุย” นายสมศักดิ์ กล่าว

ปี 68 เดินหน้าลดโรคเอ็นซีดี ชูมาตรการลดภาษี

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะขับเคลื่อนป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี เนื่องจากข้อมูลพบว่า  คนเสียชีวิตปีละ 400,000 คนจากโรคเอ็นซีดี  ทั้งมะเร็ง หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ฯลฯ หน่วยแพทย์มีความรู้แต่ไม่มีเวลาไปรณรงค์ประชาชนจึงมองว่าควรสอนให้กับหมอคนที่หนึ่งคือ อสม. มาช่วยรณรงค์เรื่องนี้ แนะนำวิธีกินที่เรียกว่า ”กินเป็นไม่ป่วย“ หากลดโรคนี้ได้ก็จะลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อย่างค่าใช้จ่ายจากค่ายาราว 1.3 แสนล้านบาท  ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆอีก 1.5 ล้านล้านบาท รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ประมาณการอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ควรให้ อสม. กว่า 1 ล้านคนมาช่วย เขาพร้อมมาช่วยอยู่แล้ว อย่างล่าสุดหารือกับ สปสช.ว่าหากลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ควรมีค่าตอบแทนให้ อสม.แต่ก็ต้องปรึกษาผู้รู้ด้วยว่าทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม  ถ้าจะลดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคน ต้องมีทั้งทางเป็นคุณและทางลบ อย่างเช่น คนที่ปฏิบัติตัวตนที่ดีแล้วจะมีแรงจูงใจอะไรให้บ้าง ได้ฝากให้คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นเป็นทางการในวันที่ 30 ก.ย.2567 จะต้องไปพิจารณาว่าจะให้อะไรบ้าง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลดโรคNCDs จะมีมาตรการให้คนดูแลสุขภาพ  นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อาจมีรางวัล หรือมาตรการลดหย่อนภาษี เพราะสถาบันพระบรมราชชนกได้คำนวณวิจัยว่าถ้าใน 50,000 คนมีคนเป็นโรคNCDs ราว 800 กว่าคน จะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 153 ล้านบาท ถ้า 5 แสนคน ก็ลดไป 1,530 ล้านบาท

ร่างพ.ร.บ.อสม. อยู่ก.คลัง เหตุมีประเด็นกองทุน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  สำหรับ ร่างพ.ร.บ. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ขณะนี้ร่างกฎหมายแล้วเสร็จอยู่ที่กระทรวงการคลัง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเงินเพราะมีการตั้งกองทุนจึงอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งมีแนวคิดว่าอสม.มาช่วยรณรงค์ลดโรคให้แก่ประชาชนตรงนี้หากลดค่าใช้จ่ายได้น่าจะสามารถเข้ากองทุนได้ รวมถึงการแจ้งเบาะแสกำลังคิดว่าเงินสามารถกลับเข้ามาในกองทุนได้หรือไม่

“ผมทำหนังสือขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการชี้แจงเรื่องร่างกฎหมาย อสม.เนื่องจากมีกองทุนโดยจะชี้แจงว่าไม่ได้ไปเบียดบังงบประมาณรัฐบาลแต่อย่างไร” นายสมศักดิ์กล่าว

ปรับปรุงบ้านพักบุคลากร 345 โครงการ

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุง และสร้างบ้านพักบุคลากรก็จะมีการปรับปรุงปรับปรุงเหมือนกันเบื้องต้นมี 345 โครงการ ซึ่งก็ใช้งบประมาณและมีจำกัดแต่ก็จะเฉลี่ยและกระจายให้ทั่วทุกจังหวัดส่วนบ้านพักหลังใหญ่ก็จะขอทางเงินกู้หรือทางกองฉลาดหรือแม้แต่การลงทุนร่วมกับเอกชนที่เรียกว่า โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน หรือ PPP (Public-Private. Partnership)

"เราจะวางแผนการสร้างบ้านพักแพทย์ พยาบาล ให้ใกล้โรงพยาบาล เพื่อจะได้เดินทางมาช่วยคนไข้ฉุกเฉินได้ทัน ไม่ต้องเดินทางไกล เพราะภาระงานก็เยอะ เหนื่อย เดินทางไกลจะลำบาก เบื้องต้นสำรวจแล้วน่าจะมีแผนจัดสร้างอยู่ 345 โครงการ โดยจะให้ปรับการสร้างเป็นอาคารที่พักขนาดเล็ก ใช้งบฯ 50-100 ล้าน ก็จะได้มีที่พักได้ทั่วประเทศ" รมว.สาธารณสุขกล่าว

ด้าน นายเดชอิศม์  ขาวทอง รมช.สธ. กล่าวว่า ตอนมาเป็นรัฐมนตรีได้แค่2 สัปดาห์และก่อนหน้านี้ก็ไม่คิดมาก่อนว่าจะได้เป็นที่นี่จึงต้องมีการปรับใจปรับตัวปัดความคิดให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการสธ. 

โดยตนในฐานะรัฐมนตรีช่วยฯ ได้รับมอบหมายการดูแลกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องคือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งแบ่งเป็น  2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เรื่องการบริการอย่างหมอนวดแพทย์แผนไทย ซึ่งเก่งระดับโลกจึงน่าจะผลิตและส่งทั่วโลกได้ แต่ไปดูแล้วแม้ในประเทศไทยก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการโดยของบกลาง 100 ล้านบาท เพื่อมาผลิตหมอนวดแผนไทยกระจายให้ทั่วประเทศไทยก่อน เพราะแพทย์แผนไทยเรามีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงเรื่องการนวดที่ได้รับการยอมรับ

2.เรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพร ก็อยากให้ส่งไปทั่วโลกในอนาคตเช่นกันจึงต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำและคุณภาพวัตถุดิบกระบวนการผลิตกระบวนการจำหน่ายการส่งออก  

ส่วนกรมอนามัยดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศและเรื่องสิ่งแวดล้อม  ดังนั้น  มองว่าทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ควรมาเอ็มโอยูกับกรมอนามัย  เช่น  กระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่องน้ำเสีย อากาศเป็นพิษมีผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น  หรือการผลิตน้ำประปาในท้องถิ่นก็ต้องมีคุณภาพเช่นกัน    หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)  หากสิ่งแวดล้อมไม่ดีก็ส่งผลต่อสุขภาพคนไทยเช่นกัน 

ดังนั้น กรมอนามัยยุคใหม่ เน้นเสริมสร้าง ไม่เน้นซ่อมแซม และต้องให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี

“ผมพร้อมที่จะสนับสนุนขับเคลื่อนให้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสำเร็จอย่างแน่นอน” รมช.สธ.กล่าว