มูลนิธิอุทัย สุดสุข ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในประชาชนกลุ่มป่วย กลุ่มเสี่ยง 3 จังหวัด ด้วยหลัก “3ส. 3อ. 1น.” เผย ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 270 คน มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและสภาวะสุขภาพดีขึ้นเป็นที่น่าพึงพอใจ
เมื่อวันที่ 16 กันยายน ดร.นพ.อุทัย สุดสุข ประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิอุทัย สุดสุข ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง (สธทศ.) เปิดเผยว่า มูลนิธิอุทัย สุดสุข ได้ร่วมกับ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการขับเคลื่อนนโยบาย สธทศ. เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประชาชนกลุ่มป่วย กลุ่มเสี่ยง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพิจิตร ด้วยการนำหลัก 3ส. (สวดมนต์ สมาธิ สนทนาธรรม) 3อ.(อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์-วิถีธรรม) 1น. (นาฬิกาชีวิต-วิถีธรรม) สู่การปฏิบัติ ระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 โดยมี นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการอบรม 2 รุ่น ที่โรงแรมวิลล่า พาราดี เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขณะที่ พญ.มานิตา พรรณวดี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานเปิดการอบรมที่โรงแรมนนทบุรี พาเลซ อ.เมือง จ.นนทบุรี และ พญ.ผกามาศ เพชรพงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เป็นประธานเปิดการอบรม ที่วัดกรดงาม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร
ด้าน ดร.สุดาฟ้า วงศ์หาริมาตย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการวิจัยประสิทธิผลการสร้างพลังจิต เสริมพลังกาย ด้วยหลักพุทธธรรม และหลักจิตวิทยา เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 270 คน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกปฏิบัติตามหลัก 3ส. 3อ. 1น. มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม สภาวะสุขภาพดีขึ้น ได้แก่ ระดับความดันโลหิตลดลง ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง รอบเอวลดลง น้ำหนักลดลง ดัชนีมวลกายลดลง มีความสุขและความพึงพอใจมากขึ้น และยังสามารถนำรูปแบบการสร้างพลังจิต เสริมพลังกายฯ ไปประยุกต์ใช้ในบริบทที่คล้ายคลึงกันได้อีกด้วย
- 77 views