สถาบันมหิตลาธิเบศร เปิดหลักสูตร “ประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง” รุ่นที่ 11 (ปธพ.11)  รับสมัครผู้สนใจเข้ารับการศึกษาอบรม ตั้งแต่วันที่ 1 -20 กันยายน 2567 ผ่านระบบรับสมัครออนไลน์ 

แพทยสภาในฐานะสภาวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีภารกิจตั้งแต่กำกับดูแลการผลิตแพทย์ใน 27 คณะแพทยศาสตร์ไปจนถึงควบคุมมาตรฐาน การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กว่า 70,000 คน ในสาขาเชี่ยวชาญ 94 สาขาภายใต้ 15 ราชวิทยาลัยแพทย์/วิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์ไทยมีภาระในการดูแลรักษาความเจ็บป่วยประชาชน 70 ล้านคน ปีละกว่า 300 ล้านครั้งต่อปีในทุกภาคส่วน จากความซับซ้อนทางวิชาการแพทย์ตามเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นแล้ว ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย ระบบบริการ เทคโนโลยีสารสนเทศก็มีการพัฒนาและทวีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ 

ด้วยเหตุนี้ แพทยสภา จึงได้จัดตั้ง สถาบันมหิตลาธิเบศร ขึ้นเป็นสถาบันทางวิชาการที่ส่งเสริม สนับสนุน ให้วงการแพทย์ มั่นคงและยั่งยืนผ่านการฝึกอบรม เสริมสร้างองค์ความรู้นอกวิชาการแพทย์  (Non-technical Skills) แก่บุคลากรทางแพทย์และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เพื่อทำการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของวงการแพทย์ในอนาคต เพื่อนำมาสร้างเป็นองค์ความรู้ที่นอกเหนือจากวิชาแพทย์ ทำเป็นหลักสูตรเพื่อฝึกอบรม เพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยเฉพาะผู้บริหารในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การบริหารจัดการ กฎหมาย เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์และการเงิน ดิจิทัลทางการแพทย์ และธรรมาภิบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ได้มีมติคณะกรรมการบริหารสถาบันมหิตลาธิเบศร ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ว่าหลักสูตร “ประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง” ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 10 รุ่น โดยได้รับสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้ามาตลอด ตั้งแต่ปี 2555 – 2565 โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรม 1,356 คน เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อวงการแพทย์ จึงเห็นควรให้ สถาบันมหิตลาธิเบศร รับมาดำเนินการต่อเนื่องใน รุ่น 11 (ปธพ.11)

โดยน้อมนำ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ว่า “อ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาผู้บริหารทางการแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถรอบด้านและยึดหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ด้วยกลไกธรรมาภิบาล และเสียสละ ให้รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้นักศึกษาทุกท่านเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาวงการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ หลักสูตรฯ ได้รับการสนับสนุนในด้านการทำกิจกรรมแพทย์อาสาและจิตอาสา จากมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ที่มีโครงการกุศลต่าง ๆ มากกว่า 100 โครงการ
 
วัตถุประสงค์

1. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) ที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกยุคใหม่ (Mega Trends) ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ โดยเฉพาะที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพทั้งด้านกายและจิตใจของมนุษย์

2. เพื่อเสริมสร้างเจตคติ (Attitude) ที่ดีในการตระหนักรู้ความสำคัญของการเป็นผู้นำที่มีความสามารถในการตัดสินใจและการกำหนดทิศทางขององค์กร

3. เพื่อเสริมสร้างทักษะ (Skill) ในการคิด วิเคราะห์และคัดสรรเครื่องมือเพื่อประยุกต์ใช้ ในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมไปถึงการถกแถลงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูงหลากหลายมิติ
 
ระยะเวลาในการศึกษา

การเรียนการสอนในหลักสูตรจะใช้เวลาเรียนประมาณ 9 เดือน (รวม 288 ชั่วโมง) โดยเรียนสัปดาห์ละ 1 ถึง 2 วัน (ทุกวันศุกร์และบางเสาร์)วันละ 2 คาบ (คาบละ 3 ชั่วโมง)ระหว่างเวลา 09.00 – 16.30 น. ยกเว้น (กรณีศึกษาดูงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ) ณ อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี หรือสถานที่ที่สถาบันฯ กำหนดในกรณีมีการศึกษาดูงานและกิจกรรมการเรียนรู้พิเศษนอกสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะแจ้งล่วงหน้า