รมว.สาธารณสุข เซ็นของบเสี่ยงภัยโควิด19 ล็อต 2 เดือนหลังมิ.ย.-ก.ย.65 เสนอของบกลางแล้ว ล่าสุดเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณ เรียกเอกสารหลักฐาน  6 อย่างเพิ่มเติม ประกอบการขอรับงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัย เช่น คำสั่งมอบหมายปฏิบัติงานช่วงโควิดระบาด ตารางบันทึกการปฏิบัติงาน ฯลฯ ขีดเส้นส่งเอกสารหลักฐานเบิกจ่ายภายในวันที่ 13 ก.ย.67 หากเลยกำหนดถือว่า ไม่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 

 

ประเด็น “ค่าเสี่ยงภัยโควิด” สำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานในช่วงโควิดระบาดหนักนั้น  ยังคงทวงถามตลอดผ่านทาง Hfocus แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อ หรือออกมาเรียกร้องอย่างเป็นทางการได้ เนื่องจากผู้สื่อข่าวได้สอบถามไป แต่ทางบุคลากรหลายคนยังกังวลในเรื่องการปฏิบัติงาน จึงไม่ขอออกมาเปิดเผยตัวตน แต่ยังคงสอบถามอยู่เสมอว่า ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจะยังได้อยู่หรือไม่

ทั้งนี้ งบค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ  1. เงินเสี่ยงภัยเดือนกรกฎาคม 2564- ครึ่งเดือนแรกเดือนมิถุนายน 2565 วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท และ2.เงินเสี่ยงภัยโควิดช่วงครึ่งเดือนหลังมิถุนายน จนถึงกันยายน 2565 วงเงินรวม 3,749.69 ล้านบาท  

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงค่าเสี่ยงภัยโควิด ซึ่ง ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 2 คือ ช่วงครึ่งเดือนหลัง มิ.ย.จนถึง ก.ย.2565 ว่า ค่าเสี่ยงภัยโควิด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามไปแล้ว อยู่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเสนอผ่านงบกลาง ต้องรอขั้นตอนการดำเนินการในส่วนนี้

แฟ้มภาพผู้ปฏิบัติงานช่วงโควิด19 ที่ผ่านมา

สำนักงบฯ เรียกเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรอการอนุมัติงบกลางเรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิด ปรากฎว่าบุคลากรสาธารณสุข ต่างแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือกระทรวงสาธารณสุข  ลงนามโดยนพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาการแพทย์ ถึงหน่วยบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื้อหาเกี่ยวกับการขอเอกสารหลักฐานข้อมูลต่างๆ โดยให้ส่งเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายภายในวันที่ 13 กันยายน 2567 หากเลยกำหนดถือว่าหน่วยงานนั้นๆไม่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัย

ทั้งนี้ ในเนื้อหาหนังสือใจความ สืบเนื่องจากสำนักงบประมาณ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยขอข้อมูลให้ครบถ้วน และมีความถูกต้องตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัย  ทำให้มีหนังสือดังกล่าวออกไป  เพื่อให้มีตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของเอกสารข้อมูลและจัดส่งเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ 

1.คำสั่ง หนังสือมอบหมายให้ปฏิบัติงาน

2.หนังสืออนุมัติให้เดินทางไปราชการเพื่อสอบสวนโรคในแต่ละครั้ง/อนุมัติให้ปฏิบัติหน้าที่

3.ตารางบันทึกการปฏิบัติงาน

4.หลักฐานการลงลายมือชื่อปฏิบัติงาน

5.หลักฐานการจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัย

6.หนังสือขออนุมัติเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัย และรายละเอียดลักษณะการปฏิบัติงานและภารกิจของหน่วยงานที่ขอเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัย

โดยให้ส่งข้อมูลแก่สำนักงบประมาณ 13 กันยายนนี้

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเรื่องไปหมดแล้ว ซึ่งกำลังดำเนินการตามขั้นตอน เพียงแต่จากหนังสือดังกล่าว ทางสำนักงบประมาณขอข้อมูลหลักฐานเพิ่ม แสดงว่า มีบางหน่วยงาน หรือบางหน่วยบริการอาจส่งหลักฐานไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลหลักฐานครบถ้วนย่อมได้ค่าเสี่ยงภัยโควิดอยู่แล้ว