ศิษย์เก่าบ้านกาญ จับมือองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ตบเท้ายื่นหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม-อธิบดีกรมพินิจฯ คัดค้านการหั่นงบฯ ตัดตำแหน่งผอ.บ้านกาญจนาคนนอก ขัดหลักการ “รัฐ-ประชาชน” สานความร่วมมือ แก้ปัญหาเยาวชนทำผิดซ้ำ งัดผลงานกว่า 20 ปี สร้างนวัตกรรม หล่อหลอมเยาวชนก้าวพลาดสู่กำลังหลักของชาติสำเร็จ กว่า 95%
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 เครือข่ายอดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในนามกลุ่มผู้ถูกเจียระไน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายบางกอกดีจัง มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิขวัญชุมชน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กลุ่มไม่ขีดไฟ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเสนอ ต่อการให้ยุติบทบาทผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก คนนอก
นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า จากกรณีมีรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชน ระบุว่า กองทรัพยากรบุคคลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแจ้งว่า งบประมาณในปี 2568 มีการตัดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนออก ความหมายคือต้องยุติการทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษกคนนอกออก คือนางทิชา ณ นคร ออก ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และมีข้อกังวลในสังคมอย่างกว้างขวางว่า การดำเนินงานในระยะต่อไปของบ้านกาญจนาฯ จะเข้าสู่ระบบราชการ อำนาจนิยมที่ควบคุมสูงหรือไม่ องค์ความรู้จากการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมา จะถูกนำไปดำเนินการต่อหรือไม่
ทั้งนี้เมื่อปี 2561 มีงานศึกษาในรูป Focus group ในกลุ่มเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ปี 2556-2559 พบเยาวชนทำผิดซ้ำเพียง 6% ต่อมาเมื่อปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) ได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการการปรับปรุงภารกิจของภาครัฐ แนวทางการขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐ (sandbox) โดย บ้านกาญจนาภิเษกอยู่ในนิยามกรณีศึกษาที่ดี เนื่องจากมีนวัตกรรมที่หลากหลายที่ช่วยเจียระไนเยาชนที่หลงผิดสามารถกลับออกมาเป็นคนดีของสังคม ไม่กระทำผิดซ้ำ จนเป็นต้นแบบให้กับหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงาน
“แต่จากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมพินิจฯ สะท้อนวิสัยทัศน์ที่น่าเป็นห่วง นอกจากจะไม่ยึดโยงเป้าหมายร่วมระหว่างภาคราชการกับภาคสังคมที่ทำกันมา ไม่สนับสนุนสานต่อแล้วยังด้อยค่า และอาจหมายถึงการเลี้ยวผิดทางอีกครั้ง ซี่งจะส่งผลให้สังคมไทยเสียโอกาสอย่างใหญ่หลวง” นายชูวิทย์ กล่าว
ด้าน นายอภิรัฐ สุดสาย อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนคืออดีตคนที่เคยก้าวพลาดต้องไปอยู่ที่บ้านต้นทาง ที่มีระบบของการใช้อำนาจอย่างเต็มที่ จากนั้นจึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก ทันทีที่ก้าวเข้ามาก็รู้สึกถึงความปลอดภัย ไม่มีการใช้อำนาจ เราสามารถทำกิจกรรมเรียนรู้วิเคราะห์ ทำกิจกรรมร่วมกับสังคม ต่อยอดความคิดพัฒนาตัวเองให้อยู่ในสังคมข้างนอกได้โดยไม่อ่อนแอ แต่จากข่าวล่าการยุติบทบาทของนางทิชาทำให้รู้สึกตกใจ และกังวลว่า สิ่งดี ๆ ที่เคยทำมาจะถูกพับเก็บ ไม่รู้ว่าทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร อาจจะมีการควบคุมสูงเหมือนเดิม ที่อธิบดีบอกว่ายังมีบ้านคุกเด็กอื่นรองรับเพียงพอ แต่ตนมองว่า เป็นการเดินถอยหลัง เพราะตนเคยอยู่ในนั้นมาก่อน เรารู้ว่ามันเลวร้ายขนาดไหน มันเป็นสถานที่ที่สามารถสร้างปีศาจตนใหม่ตลอดเวลา เพื่อที่จะปกป้องตัวเองในเวลาที่อยู่ในนั้น
ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมและกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดังนี้
1. ขอให้อธิบดีกรมพินิจฯศึกษาทบทวนที่มาที่ไป เป้าหมายร่วมเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำของเยาวชน ซึ่งศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก รับนโยบายมาจากอธิบดีคนแรก นายวันชัย รุจนวงศ์และทีมอีกหลายท่าน เช่น นายธวัชชัย ไทยเขียว โดยมี คุณหญิง จันทนี สันตะบุตร ผู้ระดมทุนสร้างบ้านกาญจนาภิเษก ในวโรกาสในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 50 ปี และมีนางทิชา ณ นคร เป็นผู้ค้นหานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
2. เนื่องจากนวัตกรรมที่ศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษกค้นพบ ไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ระบบอำนาจนิยมที่ไปลึกถึงระดับนวัตกรรมองค์กร จึงได้มีความพยายามในการค้นหาเส้นทางสายใหม่ และพบว่า พ.ร.บ. ศาล เยาวชน พ.ศ. 2553 มาตรา 55 ได้ เขียนทางออกไว้ แต่ทั้งนี้ต้องเขียนกฎกระทรวงรองรับ สิ่งที่อธิบดีฯ ควรทำเพื่อตอบโจทย์ที่ทุกคนได้ทุ่มเทอย่างหนักในรอบหลายปีคือการติดตามการเขียนกฎกระทรวงตามเจตนารมณ์มาตรา 55 ต่อจากอธิการบดีฯคนก่อนๆ และควรชี้แจงต่อสังคมให้รับทราบถึงความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวด้วย
3. ศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก ยังไม่ใช่ศูนย์ฝึกฯเอกชนตามที่อธิบดี ให้สัมภาษณ์ แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนให้เป็นศูนย์ฝึกฯ ตามมาตรา 55 ซึ่งโดยเจตนารมณ์คือภาครัฐและภาคสังคมต้องร่วมมือกัน ภายใต้ทรัพยากรที่ตนมี เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเยาวชนที่ก้าวพลาดได้คืนสู่ครอบครัวและเป็นพลังของสังคมต่อไป ภารกิจของศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษกของอธิบดีฯคนก่อนๆ ของ ก.พ.ร. จึงต้องถูกสนับสนุนอย่างจริงจังโดย อธิบดีฯ คนปัจจุบัน
4. ในฐานะอดีตเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ที่ปัจจุบันคือประชาชน คือนักศึกษา คือคนทำงาน ที่กำลังสร้างความเข้มแข็งจากต้นทุนชีวิตที่ได้รับจากบ้านกาญจนาภิเษก พวกเราทราบมาโดยตลอดว่าที่นี่ได้วางนโยบาย มีเป้าหมายร่วมกับภาคราชการคือกรมพินิจฯกับภาคสังคมที่คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร และป้ามล ทิชา ณ นคร เพื่อค้นหาเครื่องมือลดการทำผิดซ้ำของเยาวชนที่ก้าวพลาดในสถานพินิจ ซึ่งไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย แต่บ้านกาญจนาภิเษกกลับทำได้ หลักฐานเชิงประจักษ์คือพวกเราที่เป็นผู้รอดกว่า 90-95 % ความจริงกรมพินิจฯ ต้องหาทางขยายผลหรือสนับสนุนบ้านกาญจนาภิเษกอย่างจริงจัง เข้มแข็ง แทนการปิดหู ปิดตา ปิดปาก เสมือนการค้นพบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจนของที่นี่ ไร้ค่า ไม่มีความหมายใด ๆ ต่อพันธกิจของกรมพินิจฯ และการมาในครั้งนี้มิได้มาเพื่อปกป้องตัวบุคคล แต่คือการมาเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกเราคือหลักฐานเชิงประจักษ์จริงๆ
5. ขอให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าระบบ กระบวนการต่าง ๆ ของบ้านกาญจนาภิเษกซึ่งเปลี่ยนแปลง เด็กเยาวชนที่ทำผิดได้จริง จะยังคงอยู่อย่างมีหลักประกัน หรือจะถอยหลังกลับไปเป็นคุกเด็กแบบเดิมที่มองไม่เห็นนวัตกรรมใด ๆ แต่ยังคงวนเวียนอยู่กับรูปแบบที่แข็งแรงของระบบอำนาจนิยม ซึ่งเราขอคัดค้านการนำศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษกกลับไปเป็นคุกเด็กด้วยระบบแบบเดิม ๆ และขอยืนยันจะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด
- 151 views