ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ย้ำ "เมทานอล" ไม่ใช่แอลกอฮอล์กินได้ พบในสุราปลอมหรือเหล้าเถื่อน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำลายเซลล์ในระบบประสาทและระบบการหายใจ อันตรายสูญเสียดวงตา รุนแรงถึงชีวิต หากดื่มเข้าไปควรพบแพทย์ทันที ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง 

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นพ.อาคม  ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า เมทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ในการผลิตเชื้อเพลิง สี และสารเคมี 

อย่างไรก็ตาม เมทานอลไม่ใช่แอลกอฮอล์ที่สามารถบริโภคได้ และการกินเมทานอลซึ่งมักพบในสุราปลอมหรือเหล้าเถื่อน จะนำไปสู่ความเป็นพิษที่เป็นอันตรายสูญเสียดวงตา หรือแม้แต่ชีวิต เมื่อเมทานอลเข้าสู่ร่างกาย มันจะถูกเมแทบอลิซึมในตับผ่านเอนไซม์ alcohol dehydrogenase เปลี่ยนเป็นฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งมีความเป็นพิษสูง และจากนั้นฟอร์มัลดีไฮด์จะถูกเปลี่ยนเป็นฟอร์มิกแอซิด (Formic acid) ฟอร์มิกแอซิดเป็นสารที่มีผลทำลายเซลล์ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและระบบการหายใจ

พญ.วรินทร์  สมิทธิเมธินทร์ จักษุแพทย์ด้านจอตาและวุ้นตา เพิ่มเติมว่า อาการจากการทานจาก เมทานอลแอลกอฮอล์แล้วเกิดพิษอาจใช้เวลา 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน อาการจะปรากฏ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ 

  • อาการปวดหัว 
  • เวียนศีรษะ 
  • สับสน 
  • ชัก 
  • ตาพร่ามัว 
  • เห็นภาพซ้อน 
  • สูญเสียการมองเห็น 

ในกรณีที่รุนแรงอาจถึงขั้นตาบอดถาวร หายใจลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis) เป็นภาวะที่มีความเป็นกรดในเลือดสูงจากการสะสมของฟอร์มิกแอซิด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว โดยแพทย์จะพิจารณาจากประวัติการบริโภคสาร ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจระดับเมทานอลและสารเมแทบอลิซึมในเลือด 

นอกจากนี้ การตรวจความเป็นกรด-ด่างในเลือด และการตรวจระดับเกลือแร่ในเลือดก็เป็นสิ่งสำคัญในการประเมินภาวะของผู้ป่วย การรักษาพิษจากเมทานอลเป็นกระบวนการที่ต้องทำโดยทันทีเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบประสาทและระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่นการให้ยาลดความเป็นพิษของเมทานอล การฟอกไต และการให้กรดโฟลิค สำหรับการป้องกัน ให้เก็บสารเคมีที่มีเมทานอลในที่ที่ปลอดภัยและไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ระวังในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่มีฉลากหรือไม่ได้รับการรับรอง เพราะอาจมีการเจือปนเมทานอลโดยไม่ได้ตั้งใจ ควรรีบพบแพทย์ทันทีการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม สามารถลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรืออันตรายต่อการเสียชีวิต