ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขบวนการแพทย์ชนบทไทยได้รับรางวัลแมกไซไซ

การเดินทัพทางไกล (๕๐ ปี) เพื่อคนจน

จากชุมชนสู่นโยบาย

A Long March for the Poor from Community to Policy

 

         เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหมือนการระเบิดตูมใหญ่ (Big Bang) แห่งจิตสำนึกของคนหนุ่มสาวเพื่อคนจนและความยุติธรรม ความร้อนแรงของจิตสำนึกใหม่นี้ได้กลายเป็นรูปธรรมหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ ขบวนการแพทย์ชนบท คือ แพทย์จบใหม่ออกไปทำงานในชนบทเพื่อรับใช้คนจน รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนก่อตัวเป็นขบวนการแพทย์ชนบท สืบเนื่องต่อมายาวนาน แม้จิตสำนึกนี้ได้หายไปแล้วในอุดมศึกษา

         การทำงานในชุมชนทำให้แพทย์ชนบทเข้าใจระบบและการจัดการ และรู้ความจริงของแผ่นดินไทย

         คนไทยไม่รู้ความจริงของแผ่นดินไทย คือปัญหาใหญ่ของประเทศ ถ้าไม่รู้ความจริงก็ทำไม่ถูกต้อง ประเทศไทยจึงตกอยู่ในวิกฤตเรื้อรัง

         เมื่อแพทย์ชนบทเข้ามาทำงานในส่วนกลางจึงสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ ในขณะที่แพทย์เฉพาะทางมีความเป็นเลิศทางวิชาการแต่ไม่เข้าใจระบบและการจัดการ จึงไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบาย

เราจึงใช้คำว่า From Community to Policy หรือ จากชนบทสู่นโยบาย หมายถึงแพทย์ชนบทซึ่งผ่านการทำงานชุมชนมาก่อนแล้วมาขับเคลื่อนนโยบาย

         นโยบายเป็นปัญญาสูงสุดของชาติและมีผลใหญ่

         เช่น เมื่อมีนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี สปสช. เป็นผู้จัดการ คนจนทั้งประเทศได้รับประโยชน์มหาศาล

 

 

         ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบสุขภาพ (Health System Reform) ทำให้ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ดี มีชื่อเสียงขจรไปทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่สามารถทำสิ่งที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดยังทำไม่ได้

         กระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพ ได้สร้างองค์กรที่เป็นอิสระขึ้นมาช่วยกระทรวงสาธารณสุข ถึง ๗ องค์กร ที่เรียกว่าองค์กรตระกูล ส. คือ

  • สวรส.      =       สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  • สปสช.     =       สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • สสส.        =       สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
  • สช.          =       สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
  • สรพ.       =       สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล
  • สพฉ.       =       สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
  • มสช.       =       มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

         เมื่อร่วมกับ สธ. = กระทรวงสาธารณสุข จะเป็น องค์กร ส. ทั้ง ๘ เป็นพลังมหาศาล ที่จะขับเคลื่อนเรื่องดี ๆ ต่อไปอีกได้

ไม่มีกระทรวงหรือองค์กรใดเลยที่มีพลังร่วมถึงขนาดนี้

         การที่ขบวนการแพทย์ชนบทไทยได้รับรางวัลแมกไซไซในคราวนี้ จึงเป็นโอกาสที่คนไทยและประเทศไทยควรจะจัดงานเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ เพื่อกระตุ้นคนไทยทุกภาคส่วน และชาวโลกได้เรียนรู้ว่า การทำเรื่องดี ๆ ให้ประชาชนทั้งประเทศมีวิธีการอย่างไร

จึงขอเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

                                                               ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

                                                                  ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซปี ๒๕๒๔

                                                         ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิสาธารณสุขห่งชาติ